วันศุกร์ที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559

การจัดการความเสี่ยงในธุรกิจนำเที่ยว (Outbound)





การจัดการความเสี่ยงในธุรกิจนำเที่ยว
ของผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวออกนอกประเทศ (Outbound Tour Operator)


นิสิตภาควิชาศิลปาชีพ กลุ่มที่ 5 ปีการศึกษา 2558
คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

บทคัดย่อ

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการความเสี่ยงในธุรกิจนำเที่ยว ทั้งธุรกิจนำเที่ยวในประเทศ (Inbound) และธุรกิจนำเที่ยวต่างประเทศ (Outbound) โดยนำเสนอเนื้อหาจากการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลในตำรา บทความ และการสัมภาษณ์จากผู้ประกอบการ 3 แห่ง ได้แก่ 1.บริษัทรุ่งทรัพย์ ฮอลิเดย์ แทรเวิล จำกัด 2.บริษัท เอ็ม ดี ทัวร์ แอนด์ เทรเวิล จำกัด และ 3.บริษัท จอย แทรเวล จำกัด จากการศึกษาพบว่า ความเสี่ยงสำหรับธุรกิจนำเที่ยวแบ่งออกเป็นความเสี่ยงโดยทางตรง (ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นภายในองค์การและภายนอกองค์การ) และความเสี่ยงโดยทางอ้อม (นักท่องเที่ยวและผู้ส่งปัจจัยการผลิต) ซึ่งขั้นตอนของกระบวนการจัดการความเสี่ยงแบ่งออกเป็น 5 ขั้นตอน ได้แก่ 1.ขั้นตอนการระบุความเสี่ยง 2.ขั้นตอนการประเมินความเสี่ยง 3.ขั้นตอนการเลือกแนวทางในการตอบสนองความเสี่ยง 4.พัฒนาแผนจัดการความเสี่ยง 5.ดำเนินงาน ติดตาม สื่อสารและปรับแผน โดยแต่ละขั้นตอนและวิธีการที่เลือกใช้ จะแตกต่างกันไปในแต่ละองค์การ ขึ้นอยู่กับขนาด โครงสร้าง ผู้บริหาร ทรัพยากร และความเสี่ยงที่องค์การนั้นๆมี จากการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการทั้ง 3 แห่ง พบว่า ส่วนใหญ่มีความเสี่ยงในเรื่องบุคลากร อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ ภัยธรรมชาติ การก่อการร้าย เป็นต้น

 ______________________________________________ 


บทนำ
          ในปัจจุบันการเดินทางท่องเที่ยวเป็นอีกหนึ่งค่านิยมที่คนเราให้ความสนใจกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวเพื่อหาประสบการณ์ใหม่ๆ ท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพของตนเอง หรือการท่องเที่ยวเพื่อทำธุรกิจต่างๆ กลุ่มตลาดของนักท่องเที่ยวก็มีการเติบโตและกว้างขวางมากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจนำเที่ยวมีการเติบโตขึ้นมาก ทั้งธุรกิจนำเที่ยวในประเทศและธุรกิจนำเที่ยวต่างประเทศ ซึ่งในการประกอบธุรกิจต่างๆ มักจะมีผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกเสมอ ทุกองค์การจำเป็นต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนของสถานการณ์ต่างๆมากมาย ไม่เว้นแม้กระทั่งธุรกิจนำเที่ยว ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาต่างๆตามมา สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว ก็ต้องแก้ไขไปตามสถานการณ์และศักยภาพที่สามารถทำได้ในขณะนั้น แต่สำหรับปัญหาที่ยังไม่เกิดขึ้น เราจำเป็นต้องมีวิธีป้องกันและรับมือเพื่อให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างราบรื่น ซึ่งปัญหาที่ยังไม่เกิดขึ้นนี้เรียกอีกอย่างว่า ความเสี่ยง (Risk)” ความเสี่ยง คือ โอกาสที่จะเกิดความผิดพลาด ความเสียหาย การรั่วไหล ความสูญเปล่า หรือเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ หรือการกระทำใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นภายใต้สถานการณ์ที่ไม่แน่นอน ซึ่งอาจเกิดขึ้นในอนาคตและมีผลกระทบหรือทำให้การดำเนินงานไม่ประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายขององค์การ ทั้งในด้านยุทธศาสตร์ การปฏิบัติงาน การเงินและการบริหาร ส่วนการบริหารความเสี่ยง คือ กระบวนการดำเนินงานขององค์การที่เป็นระบบและต่อเนื่อง เพื่อช่วยให้องค์การลดมูลเหตุของแต่ละโอกาสที่จะเกิดความเสียหาย ให้ระดับของความเสียหายและขนาดของความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อยู่ในระดับที่องค์การยอมรับได้ ประเมินได้ ควบคุมได้ และตรวจสอบได้อย่างมีระบบ โดยคำนึงถึงการบรรลุวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายขององค์การเป็นสำคัญ สำหรับธุรกิจนำเที่ยวเองก็มีความเสี่ยงที่มีรายละเอียดแตกต่างจากธุรกิจอื่นๆ ซึ่งทางผู้จัดทำได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของเรื่องนี้ และต้องการศึกษาองค์ความรู้ในด้านนี้เพื่อนำไปปรับใช้ให้เข้ากับการทำงานในอนาคตร่วมกับองค์การต่างๆ เช่น การวางแผนจัดการความเสี่ยง การรับมือ การเลือกใช้กลยุทธ์ต่างๆ รวมถึงเพื่อนำเสนอข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจและต้องการศึกษา โดยมีประเด็นการศึกษาคือ 1.ประเภทและหลักการทั่วไปในการจัดการความเสี่ยง 2.ความเสี่ยงและสาเหตุที่เกิดขึ้นในธุรกิจนำเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ 3.กลยุทธ์การจัดการความเสี่ยงที่ประสบความสำเร็จของบริษัทต่างๆ ในธุรกิจนำเที่ยวหรือธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยเนื้อหาต่างๆนำมาจากการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลในตำรา บทความ และการสัมภาษณ์จากผู้ประกอบการ 3 แห่ง (1.บริษัทรุ่งทรัพย์ ฮอลิเดย์ แทรเวิล จำกัด 2.บริษัท เอ็ม ดี ทัวร์ แอนด์ เทรเวิล จำกัด และ 3.บริษัท จอย แทรเวล จำกัด)

ความเสี่ยงและสาเหตุความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในธุรกิจนำเที่ยว
            ความเสี่ยงในธุรกิจคือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดคิดหรืออาจเป็นเหตุการณ์ที่องค์การไม่ต้องการให้เกิดขึ้น (Queensland Tourism, 2009) ซึ่งอาจเกิดขึ้นในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งและอาจเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาสั้นหรือยาว แต่ล้วนสร้างความเสียหายด้านการตลาด การเงิน ทรัพย์สิน ชื่อเสียง ความมั่นคง หรือความปลอดภัยแก่บุคลากรและองค์การ ด้วยเหตุนี้ เจ้าของหรือผู้บริหารองค์การจึงจำเป็นต้องมีแนวทางในการจัดการความเสี่ยงซึ่งเป็นกระบวนการในการกำหนดกลยุทธ์ ระบุเหตุการณ์ที่มีผลกระทบต่อองค์การ และจัดการความเสี่ยงให้อยู่ภายในขอบเขตที่สามารถควบคุมได้เพื่อสร้างความมั่นใจว่าองค์การสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ขององค์การได้ (COSO, 2004)
          ความเสี่ยงจะมีผลกระทบต่อปัจจัยที่สำคัญขององค์กรอยู่ 4 ประการด้วยกัน ได้แก่
1. บุคคลที่เกี่ยวข้องกับองค์กรทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นพนักงาน ผู้บริหาร ลูกค้า และผู้ถือหุ้น
2. ทรัพย์สินขององค์กร ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ อุปกรณ์ต่างๆ อาคารสถานที่ รวมทั้งป้ายสัญลักษณ์ขององค์กร
3. รายได้ ไม่ว่าจะเป็นเงินลงทุน ค่าใช้จ่ายในการชดเชย รายได้ที่อาจลดลงอันสืบนื่องมาจากความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น
4. ชื่อเสียง ไม่ว่าจะเป็นความน่าเชื่อถือต่อนักลงทุน บุคคลภายนอก บุคคลภายใน และโอกาสที่จะกลับเข้าสู่การดำเนินกิจการให้ได้เหมือนเดิมอีกครั้ง
          สาเหตุความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในธุรกิจนำเที่ยว สามารถเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ โดยเกิดจากปัจจัยแวดล้อมภายใน เช่น บุคลากรไม่มีประสิทธิภาพ การเงินภายในองค์การไม่มีความคล่องตัว เป็นต้น รวมทั้งเกิดจากปัจจัยแวดล้อมภายนอก เช่น ภาวะเศรษฐกิจ ค่าเงินบาท นโยบายของรัฐบาล ภัยธรรมชาติ การแข่งขันในตลาด เป็นต้น ซึ่งในแต่ละองค์การจะมีสาเหตุของความเสี่ยงที่แตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมภายในขององค์การ และสถานการณ์ที่องค์การกำลังเผชิญ ดังนั้น การกำหนดกลยุทธ์ การหาแนวทาง และการเตรียมการรับมือจึงมีความแตกต่างกันไป ตัวอย่างเช่น การใช้กลยุทธ์การจัดการความเสี่ยงจากกรณีศึกษาของทั้งสามบริษัทจัดนำเที่ยว

ประเภทและหลักการของความเสี่ยง
          ในการดำเนินกิจการขององค์กร สภาพแวดล้อมในการดำเนินงานมีความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา การที่จะรักษาไว้ซึ่งความได้เปรียบทางการแข่งขันจึงต้องมาพร้อมกับการเลือกกลยุทธ์ที่ดีและการตัดสินใจที่เหมาะสม ซึ่งสิ่งเหล่านี้มาพร้อมกับความเสี่ยง ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นก็ครอบคลุมหลายปัจจัยทั้งลักษณะประชากรศาสตร์ เศรษฐกิจ เทคโนโลยี เป็นต้น ปัจจัยเหล่านี้สามารถเปลี่ยนแปลงได้อยู่เสมอ และเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงก็จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจนำเที่ยวด้วย
          ในแต่ละวัน องค์กรจะเผชิญความเสี่ยงอยู่ตลอดเวลา ในธุรกิจทั่วไป ความเสี่ยงมักมาใน 2 ลักษณะเสมอซึ่งก็ส่งผลต่อความไม่แน่นอนในอนาคตของการทำธุรกิจ ความเสี่ยงทั้ง 2 ลักษณะนั้น ได้แก่ ความเสี่ยงที่มาจากการเก็งกำไร (Speculative risks) เช่น การลงทุนทางการเงิน ซึ่งเกี่ยวข้องกับโอกาสที่จะได้หรือเสียกำไร และความเสี่ยงที่แท้จริง (Pure Risks) เกี่ยวข้องกับโอกาสที่จะสูญเสียหรือไม่สูญเสีย จะเห็นว่าความเสี่ยงทั้ง 2 ลักษณะนี้แตกต่างกัน แบบแรกมีความเสี่ยงแต่มีโอกาสที่จะได้กำไรหรือผลตอบแทน แต่แบบที่สอง มีแต่สถานการณ์ที่ไม่สูญเสียหรือเสมอตัวเท่านั้น ไม่มีโอกาสได้ผลตอบแทนใดๆ (ดร.ชัยเสฏฐ์ พรหมศรี, 2550) ความเสี่ยงเหล่านี้หากผู้บริหารเพิกเฉยหรือไม่ให้ความสนใจต่อความเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อกิจกรรมทางธุรกิจ ก็อาจก่อให้เกิดผลกระทบได้ เช่น สุขภาพและความปลอดภัยของบุคลากรและลูกค้า ชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของหน่วยงาน สถานะทางการเงิน เป็นต้น
การบริหารความเสี่ยง (Risk Management) หรือ กระบวนการจัดการความเสี่ยง เป็นกระบวนการเกี่ยวกับการระบุเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อองค์การ โดยลดโอกาสของการสูญเสียซึ่งมาจากเหตุการณ์ที่ไม่สามารถควบคุมได้ หรือเป็นการจัดการความเสี่ยงที่เกิดขึ้นให้สร้างความสูญเสียแก่องค์การให้น้อยที่สุด โดยทั่วไป กระบวนการจัดการความเสี่ยงนั้นประกอบด้วย 5 ขั้นตอนที่สำคัญ ดังต่อไปนี้
1) การระบุความเสี่ยง (Risk Identification) และโอกาสของความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น เป็นกระบวนการที่เปิดเผยและกำหนดว่าความเสี่ยงที่เป็นไปได้ขององค์การมีอะไรบ้าง โดยผู้บริหารหรือในบางองค์การอาจมีแผนกจัดการความเสี่ยงโดยเฉพาะ ผู้รับผิดชอบต้องวิเคราะห์ความเสี่ยงเพื่อระบุถึงโอกาสของความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น
โดยทั่วไปประเภทของความเสี่ยง แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ความเสี่ยงทางตรง และความเสี่ยงทางอ้อม

ความเสี่ยงภายในองค์การ
          ความเสี่ยงทางตรง หมายถึง เหตุการณ์ใดๆที่เกิดขึ้นและส่งผลกระทบโดยตรงแก่องค์การ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ ความเสี่ยงภายในองค์การ ที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติงานที่ผิดพลาด และไม่มีประสิทธิภาพของบุคลากรในองค์การ ความเสี่ยงด้านนี้แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ตามแผนกหรือความรับผิดชอบของงานแต่ละหน้าที่ คือ ความเสี่ยงด้านกลยุทธ์ ความเสี่ยงด้านการเงิน ความเสี่ยงด้านการตลาด และความเสี่ยงด้านการดำเนินงาน
จากการสัมภาษณ์พบว่าบริษัทรุ่งทรัพย์ ฮอลิเดย์ แทรเวิล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่เปิดมานานและมีผู้บริหารที่มีประสบการณ์ จึงมีการจัดการที่ดีในระดับหนึ่ง อย่างความเสี่ยงด้านกลยุทธ์ (Strategic Risk) เป็นความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดแผนกลยุทธ์ แผนการดำเนินงาน และการนำแผนดังกล่าวไปปฏิบัติอย่างผิดวัตถุประสงค์ ความเสี่ยงประเภทนี้ หากเกิดขึ้นจะส่งผลกระทบอย่างมาก เพราะกลยุทธ์เป็นส่วนที่กำหนดทิศทางหลักขององค์การ หากกลยุทธ์ผิดพลาดจะส่งผลให้การทำงานไม่เป็นอย่างที่หวังไว้ ในทางกลับกันบริษัทจอย แทรเวล จำกัด เพิ่งเปิดบริษัทเป็นระยะเวลาต่ำกว่า 2 ปี ผู้บริหารยังไม่มีประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจ ไม่มีการวางแผนและการบริหารงานในองค์การที่ดี รวมถึงไม่ตระหนักถึงการจัดการความเสี่ยงมากนัก เพราะการดำเนินธุรกิจในระยะเวลาที่ผ่านมายังไม่พบปัญหาร้ายแรง เช่นเดียวกับบริษัทเอ็ม ดี ทัวร์ แอนด์ เทรเวิล จำกัด ที่ไม่มีนโยบายการวางแผนกระบวนการจัดการความเสี่ยง แม้จะเป็นบริษัทที่เปิดมานานแล้ว แต่หากในอนาคตผู้บริหารของทั้งสองบริษัทยังไม่ตระหนักถึงความสำคัญของกระบวนการจัดการความเสี่ยง บริษัทจะไม่สามารถรับมือกับความเสี่ยงนั้นได้ทันท่วงทีและจะได้รับความเสียหายจำนวนมาก
ความเสี่ยงอีกด้านหนึ่งที่สามารถส่งผลกระทบต่อองค์การ คือ ความเสี่ยงด้านการเงิน (Financial Risk) ความเสี่ยงด้านนี้มักจะเกิดจากปัจจัยภายใน เช่น การบริหารจัดการที่ไม่ดีด้านสภาพคล่อง ด้านเครดิต ด้านเงินลงทุน ก่อให้เกิดความไม่คล่องตัวและความไม่มั่นคงทางการเงิน ซึ่งจะส่งผลกระทบไปยังด้านอื่นๆ ทั้งศักยภาพทางการตลาด การผลิต และการพัฒนาบุคลากร และส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันลดลงในที่สุด ความเสี่ยง ความเสี่ยงด้านนี้ บริษัท รุ่งทรัพย์ ฮอลิเดย์ฯ พบว่าบุคลากรแผนกการเงินมีโอกาสที่จะทำงานผิดพลาด คาดการณ์รายรับ-รายจ่ายไม่ถูกต้อง ซึ่งจะส่งผลต่อบัญชีรายรับ-รายจ่ายประจำปีกระทบต่อการใช้เงินจริง และอาจสูญเสียกำไรบางส่วนได้
ความเสี่ยงด้านการตลาด มีผลต่อปริมาณการขายและรายได้ขององค์การ และจะส่งผลกระทบเชิงลูกโซ่ต่อสภาวะทางการเงินขององค์กรต่อมา
นอกจากนี้ยังมี ความเสี่ยงด้านการดำเนินงาน (Operation Risk) ที่ครอบคลุมงานในแต่ละแผนก ทั้งแผนกการผลิต แผนกนำเที่ยว แผนกทรัพยากรมนุษย์ และแผนกธุรการ ความเสี่ยงด้านนี้จะส่งผลต่อประสิทธิภาพของกระบวนการทำงาน และคุณภาพของผลิตภัณฑ์และบริการ ความเสี่ยงด้านนี้โดยส่วนใหญ่เกิดจากบุคลากรไม่มีประสิทธิภาพและจำนวนบุคลากรไม่เพียงพอ
ความเสี่ยงของแผนกการผลิตและแผนกนำเที่ยวที่ทั้ง 3 บริษัทสามารถพบได้ เช่น ความเสี่ยงจากการเดินทาง ทั้งทางบก ทางอากาศและทางเรือ ที่เกิดจากความผิดพลาดของพนักงานขับรถหรือเกิดจากการประสานงานที่ไม่มีประสิทธิภาพของบุคลากรแผนกการผลิตและแผนนำเที่ยว ที่อาจเกิดอุบัติเหตุ สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้เดินทางได้ หรือการได้รับบาดเจ็บ การป่วยของนักท่องเที่ยวหรือนักท่องเที่ยวหลงทาง แล้วผู้นำเที่ยวหรือพนักงานผู้ช่วยไม่สามารถแก้ไขปัญหาในตอนนั้นได้
แผนกทรัพยากรมนุษย์ขององค์การก็มีความเสี่ยงไม่น้อยไปกว่ากัน เพราะงานที่ต้องรับมือกับมนุษย์ ยิ่งมีความซับซ้อน ต้องมองให้ขาดถึงปัญหาที่อาจส่งผลให้เกิดความเสี่ยง และระบุความเสี่ยงนั้นออกมาให้ได้ บริษัทรุ่งทรัพย์ ฮอลิเดย์ฯ  มีจำนวนบุคลากร 15-20 คน ในช่วงฤดูกาลการท่องเที่ยวจะมีนักท่องเที่ยวต้องการใช้บริการท่องเที่ยวมาก ซึ่งบางครั้งบุคลากรของบริษัทไม่สามารถผลิตผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวได้ทันเวลาหรือไม่สามารถผลิตในระดับคุณภาพสูงสุดได้ อาจส่งผลถึงความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวและทำให้ลดโอกาสการซื้อในอนาคตลง ส่วนบริษัทจอย แทรเวล จำกัด บุคลากรใหม่ขาดประสบการณ์ ทำงานได้ไม่ถึงประสิทธิภาพสูงสุด เกิดความผิดพลาดในการทำงาน ส่งผลต่อคุณภาพผลิตภัณฑ์

ความเสี่ยงภายนอกองค์การ
ความเสี่ยงทางตรง ยังรวมถึง ความเสี่ยงภายนอกองค์การ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมภายนอก โดยเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อวัตถุประสงค์ขององค์การ เช่น วัฒนธรรม การเมือง กฎหมาย ข้อบังคับ การเงิน เทคโนโลยี เศรษฐกิจ สภาพแวดล้อมการแข่งขัน ภัยธรรมชาติและการก่อการร้าย เป็นต้น เนื่องจากความเสี่ยงประเภทนี้องค์การไม่สามารถควบคุมหรือจัดการเหตุการณ์นั้นได้ เมื่อทางสังคมหรือประเทศต่างๆประสบปัญหา องค์การก็จะได้รับผลกระทบ
จากการสัมภาษณ์บริษัทนำเที่ยวต่างประเทศ พบว่ามีความเสี่ยงที่มีสาเหตุจากสภาพแวดล้อม สภาพอากาศ หรือสถานการณ์ของประเทศแต่ละประเทศที่เป็นจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวของแต่ละบริษัท ความเสี่ยงหลักๆที่พบกันทั้ง 3 บริษัท รวมถึงบริษัทนำเที่ยวต่างประเทศอื่นๆด้วย คือ อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด ฝ่ายบัญชีไม่สามารถคาดการณ์การต้นทุนการผลิตและรายรับได้ ตัวอย่างสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น เช่น บริษัทคำนวณและตั้งราคาขายไว้ในช่วงเวลาที่อัตราแลกเปลี่ยนต่ำ เมื่อถึงวันชำระเงินให้แก่ผู้ให้บริการภาคพื้นดิน อัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ทำให้บริษัทสูญเสียค่าใช้จ่ายมากกว่าที่ควรเป็น
นอกจากนี้ ความเสี่ยงที่มีโอกาสเผชิญอีก คือ ภัยพิบัติทางธรรมชาติและโรคระบาด ซึ่งบริษัทรุ่งทรัพย์ ฮอลิเดย์ฯ มีจุดหมายปลายทางหลัก คือประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่ภัยธรรมชาติเกิดขึ้นบ่อย ทั้งสึนามิ น้ำท่วม แผ่นดินไหว และภัยพิบัติที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น วิกฤตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ทำให้มีเหตุให้ต้องยกเลิกการเดินทางอยู่เสมอ ซึ่งการยกเลิกการเดินทางส่งผลให้บริษัทมีโอกาสสร้างรายได้ลดลง รวมทั้งหากไม่ยกเลิกการเดินทาง แต่ยังยืนยันการเดินทางนั้นๆอยู่ ก็มีความเสี่ยงที่นักท่องเที่ยวจะได้รับการบาดเจ็บหรือเกิดอุบัติเหตุระหว่างการเดินทาง เช่นเดียวกับบริษัทจอย แทรเวลฯ ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติและโรคระบาดเช่นเดียวกัน ส่งผลให้ทางบริษัทจำเป็นต้องยกเลิกการจองตั๋วเครื่องบินและห้องพัก ในส่วนของบริษัทเอ็ม ดี ทัวร์ฯ ภัยพิบัติทางธรรมชาติส่งผลต่อการตัดสินใจของนักท่องเที่ยวในการเลือกจุดหมายปลายทาง ซึ่งส่งผลต่อต้นทุนการผลิตรายการนำเที่ยวของบริษัททัวร์
ความเสี่ยงด้านการเมือง บริษัทเอ็ม ดี ทัวร์ฯ พบว่าส่งผลให้ลูกค้าเกิดความไม่มั่นใจในความปลอดภัยและเปลี่ยนจุดหมายปลายทาง ซึ่งจะกระทบถึงต้นทุนการผลิตของบริษัทเช่นเดียวกัน

ความเสี่ยงทางอ้อม
            ความเสี่ยงทางอ้อม คือเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดและไม่แน่นอนที่ไม่ได้เกิดขึ้นกับองค์การโดยตรง แต่เกิดกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียขององค์การและส่งผลต่อองค์การในทางอ้อม มี 2 ลักษณะ คือ ความเสี่ยงทางอ้อมที่เกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยว และความเสี่ยงทางอ้อมที่เกิดกับขึ้นกับผู้ส่งปัจจัยการผลิต
          ความเสี่ยงทางอ้อมที่เกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยว คือ ภัยธรรมชาติในเส้นทางหรือสถานที่ท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยววางแผนจะเดินทางไป เนื่องจากนักท่องเที่ยวอาจมีความกังวล ลังเล และไม่เดินทางไปสู่สถานที่ท่องเที่ยวนั้นๆหรือไม่เดินทางโดยใช้เส้นทางนั้น ส่งผลให้บริษัทเสียโอกาสในการขายรายการนำเที่ยวที่มีสถานที่ท่องเที่ยวเหล่านั้นอยู่ เช่น ภัยธรรมชาติในประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางหลักที่กลุ่มลูกค้าของบริษัท รุ่งทรัพย์ ฮอลิเดย์ฯ นิยมเดินทางไป
          รวมถึง เรื่องมาตรฐานของโรงแรมและที่พักก็สำคัญ โดยบริษัทจอย แทรเวลฯ กล่าวว่า หากความสะอาด สิ่งอำนวยความสะดวก และการบริการของที่พัก ไม่อยู่ในระดับที่ทำให้ลูกค้าพอใจ จะกระทบถึงการตัดสินใจเลือกใช้บริการบริษัทนำเที่ยวของลูกค้าในครั้งหน้า แต่หากที่พักที่ทางบริษัทเลือกมา มีมาตรฐานในเรื่องข้างต้นในระดับดี จะทำให้ลูกค้าพอใจแลเชื่อใจบริษัทนำเที่ยวของเรา พร้อมใช้บริการในครั้งต่อไป เช่นเดียวกันกับคุณภาพร้านอาหาร ทั้งปัจจัยรสชาติ ปริมาณ สุขอนามัย ก็เป็นส่วนหนึ่งในการเลือกใช้บริการครั้งต่อไปของนักท่องเที่ยว และส่งผลกระทบต่อบริษัทในรูปแบบเดียวกัน
          ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับผู้จัดส่งปัจจัยการผลิต ได้แก่ การถูกระงับบินของสายการบิน เนื่องจากประเทศไทยได้รับการแจ้งเตือนของ ICAO ถึงความเป็นไปได้ในการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือด้านความปลอดภัยของกรมการบินพลเรือนไทย ซึ่งหากเกิดขึ้นจริงอาจส่งผลให้สถาบันประเมินมาตรฐานอื่นๆ ทำการทบทวนมาตรฐานความปลอดภัยทางการบินของไทยเพิ่มเติม แม้ว่าจะพ้นจากการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือจาก ICAO ก็ยังไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะยังมีความเสี่ยงที่จะถูกปรับลดมาตรฐานด้านความปลอดภัยจากสถาบันอื่นๆ หากเกิดการปรับลดสถานะความปลอดภัยจะส่งผลให้เกิดการสูญเสียความนิยมจากผู้โดยสารโดยทันที ซึ่งหากเกิดกับสายการบินที่บริษัทใช้บริการอยู่ประจำ บริษัทอาจมีต้นทุนที่สูงขึ้นรวมถึงความเสี่ยงจากการเปลี่ยนสายการบิน
          ในส่วนของผู้จัดส่งปัจจัยการผลิตด้านอาหารและเครื่องดื่มหรือธุรกิจที่พัก ถ้าหากเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจเหล่านี้ เช่น ค่าวัตถุดิบการผลิตสูงขึ้น จะส่งผลต่อต้นทุนการผลิตของบริษัท หรือกรณีธุรกิจเหล่านี้มีภาพลักษณ์เสียหาย ทางบริษัทควรต้องแจ้งตัวแทนจัดการท่องเที่ยวภาคพื้นดินให้จัดหาผู้จัดส่งปัจจัยการผลิตให้ ไม่เช่นนั้นหากลูกค้าทราบถึงปัญหาเหล่านี้ อาจสงสัยและเปลี่ยนใจที่จะใช้บริการของบริษัท
2) การประเมินความเสี่ยง เมื่อผู้บริหารระบุความเสี่ยงออกมาแล้ว นำความเสี่ยงเหล่านั้นมาประเมินแนวโน้มที่จะเกิด วัดความถี่และความรุนแรงของการสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น ผู้บริหารต้องพิจารณาทั้งกิจกรรมที่เกิดขึ้นในอดีตและกิจกรรมที่กำลังทำอยู่ในปัจจุบัน เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจ โดยต้องพิจารณาว่าโอกาสของความเสี่ยงนั้นจะเกิดขึ้นหรือไม่และหากเกิดจะเกิดบ่อยแค่ไหน
          ในการประเมินความเสี่ยงต้องมีการจัดลำดับความสำคัญของความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น โดยทั่วไป บริษัทส่วนมาก รวมทั้งบริษัทรุ่งทรัพย์ ฮอลิเดย์ฯ ผู้บริหารหรือผู้จัดการความเสี่ยงอาจกำหนดตารางให้กับบุคลากรในแต่แผนกเพื่อชวยกันระดมสมองในการหาลำดับความสำคัญของความเสี่ยงตามคะแนนที่ต้องระบุไว้ ไม่ได้กำหนดว่าเป็นหน้าที่ของผู้บริหารหรือแผนกบริหารเท่านั้น แต่เป็นการช่วยกันระดมสมอง เพราะบุคลากรแต่ละแผนกจะสามารถมองเห็นความเสี่ยงที่สามารถเกิดขึ้นในแผนกของตนได้
ในการประเมินความเสี่ยงสามารถใช้ปัจจัยเหล่านี้มาพิจารณาเพื่อประกอบการกำหนดเกณฑ์ความเสี่ยงได้ ดังนี้
-          ลักษณะและประเภทของผลกระทบที่สามารถเกิดขึ้นและแนวทางในการประเมินผลกระทบ
-          แนวทางในการระบุโอกาสในการเกิดขึ้น
-          กรอบเวลาของโอกาสและผลกระทบที่เกิดขึ้น
-          แนวทางในการกำหนดระดับความเสี่ยง
-          ระดับของความเสี่ยงที่สามารถยอมรับได้
-          ระดับของความเสี่ยงที่จะต้องจัดการ
การประเมินความเสี่ยงมุ่งเน้นประเมินตัวแปร 2 ตัวแปร คือ โอกาสการเกิด (Likelihood/Probability) และ ผลกระทบหรือความรุนแรง (Impact/Severity) ของความเสี่ยงแต่ละเหตุการณ์ การประเมินความเสี่ยงสามารถทำได้ทั้งเชิงคุณภาพที่จะอธิบายลักษณะ ขอบเขต และระดับผลกระทบของความเสี่ยง และเชิงปริมาณซึ่งเป็นการแสดงตัวเลขโอกาสการเกิดและระดับผลกระทบของความเสี่ยง ซึ่งส่วนมากบริษัทธุรกิจนำเที่ยวนั้น เหมาะที่จะใช้วิธีการเชิงปริมาณมากกว่า เนื่องจากเห็นภาพได้ชัดเจน ทั้งนี้การประเมินความเสี่ยงเชิงปริมาณมีหลากหลายรูปแบบ แต่รูปแบบที่เข้าใจได้ง่ายและเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง คือ โอกาสเกิด x ระดับผลกระทบหรือความรุนแรงของความเสี่ยงซึ่งมีขั้นตอนในการประเมินดังนี้
          1) กำหนดค่าคะแนนโอกาสในการเกิดความเสี่ยงแต่ละเหตุการณ์ การกำหนดค่าคะแนนขึ้นอยู่กับขนาดองค์การและความซับซ้อนของธุรกิจและความสัมพันธ์ขององค์การกับสิ่งแวดล้อมต่างๆ เช่น องค์การขนาดเล็กกำหนดค่าคะแนนโอกาสการเกิดความเสี่ยง 3 คะแนน องค์การใหญ่อาจกำหนดค่าคะแนนโอกาสการเกิดความเสี่ยง 15 คะแนน หรือมากกว่านั้น
          2) กำหนดค่าคะแนนระดับผลกระทบหรือความรุนแรงของความเสี่ยง โดยทำเช่นเดียวกับการกำหนดค่าคะแนนโอกาสการเกิดความเสี่ยง
          3) นำค่าคะแนนของโอกาสการเกิดคูณด้วยค่าคะแนนระดับผลกระทบหรือความเสี่ยง
          4) จัดลำดับความสำคัญของความเสี่ยง โดยใช้ผลคะแนนที่คูณกันแล้ว โดยความเสี่ยงที่มีค่าคะแนนสูงสุดคือความสี่ยงที่ต้องได้รับการจัดการในอันดับต้น
          การจัดลำดับความเสี่ยงนั้นอาจเกิดความผิดพลาดได้จากความซับซ้อนของความเสี่ยง กล่าวคือ ความเสี่ยงบางประเภทมีโอกาสเกิดขึ้นมากหรือเกิดขึ้นบ่อยแต่เมื่อเกิดแล้วไม่ได้ส่งผลกระทบมากนัก ในขณะเดียวกันความเสี่ยงบางประเภทมีโอกาสเกิดขึ้นน้อย แต่ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นมีระดับความเสียหายสูง ความสับสนในลักษณะนี้จึงทำให้บางองค์การมีการจัดลำดับความเสี่ยงที่ไม่ตรงตามสถานการณ์ ให้ความใส่ใจกับความเสี่ยงที่ไม่ได้ก่อความสูญเสียมาก และละเลยความเสี่ยงที่ก่อความเสียหายระดับสูง ในกรณีนี้จะทำให้องค์การนั้นใช้ทรัพยากรในการจัดการความเสี่ยงอย่างไม่เต็มที่ สูญเสียโอกาสนำทรัพยากรและเวลามากในการจัดการความเสี่ยงที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง
3) การเลือกแนวทางในการตอบสนองความเสี่ยง
          จากการสัมภาษณ์บริษัทนำเที่ยวนอกประเทศทั้ง 3 บริษัท พบว่าแต่ละบริษัทมีแนวทางในการตอบสนองความเสี่ยงแต่ละประเภทดังนี้
     บริษัทนำเที่ยวออกนอกประเทศทั้ง 3 บริษัท มีการเลือกใช้แนวทางการหลีกเลี่ยงความเสี่ยง (Avoidance) ที่เหมือนกัน นั่นก็คือ การไม่ดำเนินกิจกรรมใดๆ ที่เกี่ยวเนื่องหรือก่อให้เกิดความเสี่ยงโดยเจ้าของหรือผู้บริหารอาจต้องปรับเปลี่ยนแผนขององค์กรเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่เกิดขึ้น (Gray and Larson, 2006: 216)  โดยบริษัท รุ่งทรัพย์ ฮอลิเดย์ แทรเวิล จำกัดและบริษัท เอ็ม ดี ทัวร์ แอนด์ เทรเวิล จำกัด ใช้แนวทางในการตอบสนองความเสี่ยงนี้ในการการตอบสนองความเสี่ยงด้านภัยพิบัติทางธรรมชาติ โรคติดต่อ และการก่อการร้ายโดยบริษัท รุ่งทรัพย์ ฮอลิเดย์ แทรเวิล จำกัด จะไม่เดินทางไปในสถานที่ที่กำลังเผชิญภัยพิบัติอยู่ เช่น เมื่อเมืองหรือประเทศที่จะไปกำลังประสบเหตุภัยพิบัติอยู่ บริษัทจะยกเลิกการผลิตและการจำหน่ายรายการท่องเที่ยวไปเมืองนั้นๆชั่วคราว หรือในกรณีที่ลูกค้าได้ชำระค่าบริการรายการนำเที่ยวนั้นแล้ว แต่เกิดเหตุภัยพิบัติขึ้นในวันเดินทาง ก็ใช้แนวทางหลีกเลี่ยงความเสี่ยงเช่นเดียวกัน โดยทางบริษัทต้องประสานงานกับสายการบินเพื่อยกเลิก รวมถึงทำการสอบถามกับลูกค้าว่าจะยกเลิกหรือเลื่อนการเดินทางออกไป ทั้งนี้ทางฝ่ายบริหารจะใช้ประสบการณ์มาตัดสินใจตามความเหมาะสม เช่นเดียวกับบริษัท เอ็ม ดี ทัวร์ แอนด์ เทรเวิล จำกัด ที่สร้างรายการนำเที่ยวของบริษัทขึ้นมาอย่างพิถีพิถัน โดยพิจารณาจากประเทศที่มีความปลอดภัยสูง และเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว เนื่องจากบริษัทเล็งเห็นว่า การนำเที่ยวไปยังประเทศที่พัฒนาแล้ว ทำให้นักท่องเที่ยวได้รับประสบการณ์และความรู้ใหม่ ซึ่งการออกแบบรายการนำเที่ยว ถือเป็นการลดความเสี่ยงวิธีหนึ่งของบริษัท แต่หากกรณีเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด เช่น การเกิดสึนามิในประเทศญี่ปุ่น ทางบริษัทจะยกเลิกรายการนำเที่ยวในพื้นที่เสี่ยง หรือนำเที่ยวไปยังเมืองที่ไม่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติแทน เป็นต้น
ในขณะที่บริษัท จอย แทรเวล จำกัด ใช้แนวทางการแบ่งความเสี่ยง (Share) ในการการตอบสนองความเสี่ยงด้านนี้  ซึ่งก็คือการให้บุคคลหรือองค์การอื่นรับความเสี่ยงบางส่วนโดยองค์การเองยังคงต้องรับความเสี่ยงอื่นๆ ด้วยเช่นกัน ซึ่งจะต่างจากการถ่ายโอนความเสี่ยงที่เป็นการถ่ายโอนความเสี่ยงทั้งหมดให้แก่บุคคลหรือองค์การอื่น โดยบริษัท จอย แทรเวล จำกัด ได้มีการทำข้อตกลงร่วมกันกับสายการบินหรือโรงแรมหากมีการยกเลิกทัวร์เนื่องจากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ ทางสายการบินและโรงแรมที่ติดต่อไว้จะคืนเงินให้กับบริษัทตามที่ตกลงกันไว้ ตัวอย่างที่เพิ่งเกิดขึ้นเร็วๆนี้เช่น เหตุการณ์ไข้หวัดเมิร์ซที่เกาหลีระบาดทำให้นักท่องเที่ยวยกเลิกการจองทัวร์เป็นจำนวนมากส่งผลให้ทางบริษัททัวร์จำเป็นต้องยกเลิกการจองตั๋วเครื่องบินและห้องพัก ต่อมา
นอกจากนี้ บริษัท จอย แทรเวล จำกัด ยังมีการใช้แนวทางการบรรเทาหรือลดความรุนแรงของความเสี่ยง (Mitigation/Reduction) ในการตอบสนองความเสี่ยงด้านภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งแนวทางนี้เป็นการยอมเผชิญความเสี่ยงแต่หาวิธีการลดความรุนแรงของความเสี่ยงซึ่งสามารถทำได้ 2 วิธี คือ การป้องกันเพื่อลดโอกาสในการเกิดความเสี่ยง และการลดความรุนแรงของผลกระทบเมื่อเกิดความเสี่ยง โดยการติดตามราคาของคู่แข่งว่ามีราคาเท่าไรและจะไม่ตั้งราคาให้ต่างกันจนเกินไป เพื่อไม่ให้เกิดการเปรียบเทียบ เพราะปัจจัยด้านราคามีความสำคัญต่อการตัดสินใจซื้อของลูกค้าค่อนข้างมาก บริษัทที่ตั้งราคาได้ถูกกว่าจะดึงดูดให้เกิดการตัดสินใจซื้อของลูกค้าได้มากกว่าบริษัทที่ตั้งราคาแพง ความเสี่ยงด้านคู่แข่งจากการแข่งขันในเรื่องราคาเป็นปัญหาหนึ่งที่ทำให้บริษัทถูกลูกค้ายกเลิกการจอง

         
ในขณะที่บริษัท รุ่งทรัพย์ ฮอลิเดย์ แทรเวิล จำกัด ก็ได้นำแนวทางในการตอบสนองความเสี่ยงนี้มาใช้ในการตอบสนองความเสี่ยงด้านการวางแผนการเงินประจำปี โดยการคาดการณ์ว่าในแต่ละปีมีรายรับรายจ่ายเท่าไร แจกแจงว่ามีรายการอะไรบ้าง แล้วคำนวณออกมาให้อยู่ในสถานการณ์ที่สามารถจัดการเงินไปใช้ได้อย่างพอเพียงและเหมาะสม และติดตามและตรวจสอบสภาวะทางการเงินองค์การอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นการใช้แนวทางการบรรเทาหรือลดความรุนแรงของความเสี่ยง (Mitigation/Reduction) โดยใช้วิธีลดความรุนแรงของผลกระทบเมื่อเกิดความเสี่ยง เพราะการทำแผนการเงิน ทำให้ทราบถึงการจัดสรรเงินแต่ละส่วน หากส่วนใดเกิดปัญหา อาจนำเงินสำรองไปจัดการปัญหานั้นๆได้ และยังใช้แนวทางการถ่ายโอนความเสี่ยง (Transfer) ในการตอบสนองความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น เป็นการทำสัญญากับบุคคลอื่นหรือองค์การให้ยอมรับความเสี่ยงแทน โดยส่วนใหญ่เป็นการทำประกันภัย บริษัท รุ่งทรัพย์ ฮอลิเดย์ แทรเวิล จำกัด มีการทำประกันภัยในรูปแบบการซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า ช่วยให้บริษัทสามารถบริหารผลกำไรให้มีความแน่นอนได้ ทำให้ผลการดำเนินธุรกิจไม่ผันผวนตามอัตราแลกเปลี่ยนที่อาจเปลี่ยนแปลง
          นอกจากนี้ยังมีอีกแนวทางหนึ่งในการตอบสนองความเสี่ยง นั่นก็คือ แนวทางในการยอมรับความเสี่ยง (Acceptance) ที่แม้ว่าเจ้าของหรือผู้บริหารสามารถลดความเสี่ยงตามแนวทางหรือกลยุทธ์ที่กล่าวข้างต้น แต่ในความเป็นจริงหรือบางสถานการณ์ ผลกระทบบางอย่างยังไม่สามารถจัดการได้หมด เจ้าของหรือผู้บริหารก็จำเป็นต้องยอมรับผลกระทบที่ยังคงเหลืออยู่ อย่างไรก็ตาม การยอมรับความเสี่ยงจะเป็นกลยุทธ์ที่นำมาใช้ในกรณีที่ความเสี่ยงมีโอกาสน้อยที่จะเกิดขึ้นและความสูญเสียที่เกิดขึ้นสร้างผลกระทบไม่รุนแรง หรือในกรณีที่การถ่ายโอนความเสี่ยงไปยังองค์การอื่นนั้นมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าความสูญเสียที่เกิดขึ้นเมื่อองค์การยอมรับความเสี่ยง

4) การพัฒนาแผนจัดการความเสี่ยง เมื่อผู้บริหารได้ปฏิบัติตามขั้นตอนดังกล่าวแล้วจึงจัดทำแผนจัดการความเสี่ยง การกำหนดแผนจัดการความเสี่ยงจะมีการนำเสนอแผนจัดการความเสี่ยงที่จะดำเนินการต่อที่ประชุมคณะผู้บริหารเพื่อพิจารณาและขออนุมัติการจัดสรรทรัพยากรที่จำเป็นต้องใช้ดำเนินการ (ถ้ามี) และจะนำไปถ่ายทอดแก่บุคลากรทั้งระดับบริหารและระดับปฏิบัติงานเพื่อให้เข้าใจและดำเนินการจัดการความเสี่ยงไปในทิศทางเดียวกัน

5) การดำเนินงาน สื่อสาร ติดตาม และปรับแผน เมื่อองค์การได้จัดทำแผนจัดการความเสี่ยงแล้ว องค์การต้องทำการสื่อสาร โดยถ่ายทอดข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการจัดการความเสี่ยงให้ทุกแผนกได้รับรู้อย่างทั่วถึง ทั้งนี้ในการดำเนินงานประกอบไปด้วยการควบคุม ซึ่งควรคำนึงถึงความคุ้มค่าในด้านค่าใช้จ่ายและต้นทุน กับผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับด้วย โดยกิจกรรมการควบคุมควรมีองค์ประกอบดังนี้
- วิธีการดำเนินงาน (ขั้นตอน, กระบวนการ)
- การกำหนดบุคลากรภายในองค์กรเพื่อรับผิดชอบการควบคุมนั้น ซึ่งควรมีความรับผิดชอบ
1) พิจารณาประสิทธิผลของการจัดการความเสี่ยงที่ได้ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน
2) พิจารณาการปฏิบัติเพิ่มเติมที่จำเป็น เพื่อเพิ่มประสิทธิผลของการจัดการความเสี่ยง
- กำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จของงาน
รวมถึงต้องมีการติดตามและปรับแผนให้เหมาะสมกับบริษัทของตน

ประวัติของบริษัทจัดนำเที่ยวที่ให้ข้อมูล
-          บริษัทรุ่งทรัพย์ ฮอลิเดย์ แทรเวิล จำกัด
บริษัท รุ่งทรัพย์ ฮอลิเดย์ แทรเวิล จำกัด เปิดมาแล้วเป็นเวลา 22 ปี ประธานกรรมการบริษัท คือ คุณมนูญ พิพัฒนนันท์ เป็นผู้ที่มีประสบการณ์ในการทำธุรกิจท่องเที่ยวมากว่า 40 ปี มีลูกค้าที่ติดต่อประจำ มีความสัมพันธ์อันดีกับสายการบินต่างๆ และตัวแทนการท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ จึงทำให้การบริหารงานบริษัทมีความเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว และคุณอนันต์ พิพัฒนนันท์ กรรมการผู้จัดการ จบการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านการตลาด จบการศึกษาระดับปริญญาโทด้านการเงินและการธนาคาร ได้รับการอบรมหลักสูตรมัคคุเทศก์ และเมื่อมีเวลาว่างจากการเรียนก็จะมาช่วยกิจการของบริษัทโดยจัดรายการนำเที่ยว แนะนำการท่องเที่ยว และเริ่มเป็นหัวหน้าทัวร์ตั้งแต่ปี 2524 โดยใช้เวลาช่วงปิดเทอม นำทัวร์ต่างประเทศในประเทศใกล้เคียงก่อน เมื่อมีประสบการณ์จึงเริ่มพาทัวร์ในระเทศที่ไกลและใช้ความสามารถมากขึ้น จะเห็นได้ว่าบุคลกรฝ่ายบริหารของบริษัท รุ่งทรัพย์ ฮอลิเดย์ แทรเวิล จำกัด มีประสบการณ์การทำงานในธุรกิจท่องเที่ยวในระดับหนึ่ง ซึ่งประสบการณ์นี้ ได้ส่งผลถึงกระบวนการและการปฏิบัติงานที่ดีขององค์การ สำหรับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของบริษัทจะเน้นที่กลุ่มลูกค้าคนไทยที่ต้องการไปเที่ยวต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศจีน ซึ่งทางบริษัทมีฝ่ายที่ดูแลทัวร์จีนโดยเฉพาะ นอกเหนือจากการนำเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศกว่า 50 ประเทศทั่วโลกแล้ว ทางบริษัทยังมีการให้บริการจำหน่ายบัตรโดยสารของสายการบินทุกสายในโลก การให้บริการจองโรงแรมที่พัก และยานพาหนะทั้งในและต่างประเทศกว่า 100 ประเทศ รวมถึงการรับจองและจัดทำการท่องเที่ยวทางทะเลของเรือสำราญ
-          บริษัท เอ็ม ดี ทัวร์ แอนด์ เทรเวิล
บริษัท เอ็ม ดี ทัวร์ แอนด์ เทรเวิล จำกัด เริ่มก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2517 โดยคุณมนัส จันทร์เพ็ญและภรรยาเป็นผู้ก่อตั้ง ทั้งสองเริ่มต้นจากการทำธุรกิจขายเฉพาะตั๋วเครื่องบิน เมื่อดำเนินธุรกิจไปได้ระยะหนึ่ง เริ่มมีกำไรและมีฐานลูกค้าพอสมควร จึงพัฒนามาเป็นบริษัทนำเที่ยวต่างประเทศ เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้า โดยกลุ่มลูกค้าของบริษัทเริ่มจากคนใกล้ตัว ญาติ เพื่อน และลูกค้าเก่า จากการนำเที่ยวแบบครอบครัวไปยังประเทศฮ่องกง จากนั้นก็ขยายไปยังประเทศอื่นๆทั้งในทวีปเอเชียและยุโรป ปัจจุบันเป็นบริษัทตัวแทนให้บริการท่องเที่ยว ที่ดำเนินงานด้วยมาตรฐานการบริการนำเที่ยวต่างประเทศมากว่า 30 ปี โดยมีรายการนำเที่ยวหลักๆคือ อเมริกา แคนาดา เอเชีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ยุโรป ญี่ปุ่น และแอฟริกาใต้ กลุ่มเป้าหมายของบริษัท เป็นลูกค้าที่มีกำลังในการใช้จ่ายสูง เนื่องจากลูกค้ากลุ่มนี้มีความภักดีและส่วนใหญ่เป็นลูกค้าเก่า ซึ่งจะเกิดการบอกต่อแบบปากต่อปาก บริษัทสามารถใช้ประโยชน์จากส่วนนี้ จึงไม่จำเป็นที่จะต้องทำการโฆษณาประชาสัมพันธ์มากนัก
-          บริษัท จอย แทรเวล จำกัด
บริษัท จอย แทรเวล จำกัด เป็นบริษัทนำเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งเปิดกิจการมาแล้วเป็นเวลา 1 ปีครึ่ง โดยมีผู้ร่วมลงทุนเป็นชาวเกาหลี  ปัจจุบันทำธุรกิจในลักษณะรายการนำเที่ยวภาคพื้นดิน จัดหารถ มัคคุเทศก์ และจัดทำอาหารรวมถึงบริการการท่องเที่ยวซึ่งมี 4 ประเทศ คือ สิงคโปร์ พม่า เกาหลี ไทย และเวียดนามที่กำลังจะเปิดในสิ้นปี โดยดำเนินการภายใต้คอนเซ็ป “the best memories” แนวคิดคือ เน้นความรู้สึกและประสบการณ์ดีๆ ต่อลูกค้าเพื่อให้ลูกค้ามีความทรงจำที่ดีต่อการท่องเที่ยวกับบริษัท รวมถึงมีการสื่อสารกับบุคลากรอย่างชัดเจนว่าเป้าหมายของบริษัท คือ การบริการที่ดีที่สุดแก่ลูกค้า โดยเน้นการสร้างความประทับใจและให้ลูกค้ากลับมาใช้บริการซ้ำ  สำหรับรายการนำเที่ยวที่โดดเด่นของบริษัทคือ Reward Trip Design ซึ่งเป็นการออกแบบโดยคำนึงถึงความเหมาะสมของลูกค้าแต่ละท่าน เพื่อสร้างความประทับใจ สร้างการจดจำ Technical  Visit Design Trip สำหรับการดูงาน การศึกษางาน เหมาะสำหรับนักศึกษา พนักงานระดับบริหาร หรือองค์กรที่ต้องการสร้างประสบการณ์ที่เป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาบุคคลากรขององค์ ซึ่งไม่จำกัดสถานที่ Privilege Trip Go On Demand Korea สำหรับกลุ่มที่ต้องการท่องเที่ยวแบบส่วนตัว ซึ่งลูกค้าสามารถออกแบบการท่องเที่ยวให้เป็นในแบบที่ต้องการ สามารถปรับตารางการท่องเที่ยวได้ตามใจ นอกเหนือจากรายการนำเที่ยวต่างๆ ทางบริษัทยังมีการให้บริการ การจองตั๋วเครื่องบินเพื่อการเดินทางในทุกรูปแบบ และทุกสายการบินอีกด้วย

สรุป
          การจัดการความเสี่ยงเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้องค์การสามารถจัดการกับความไม่แน่นอนของสถานการณ์ต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถวางแผนการป้องกันและรับมือกับสิ่งที่มีแนวโน้มจะเกิดในอนาคต เป็นการลดผลกระทบที่จะเกิดกับองค์การให้มีความเสียหายน้อยที่สุด ทำให้องค์การรู้เท่าทันสถานการณ์และเลือกใช้กลยุทธ์ต่างๆได้อย่างเหมาะสม พร้อมทั้งสรรหาและพัฒนาบุคลากรให้มีสมรรถนะและประสิทธิภาพตามที่องค์การต้องการ  อีกทั้งเป็นการส่งเสริมให้องค์การมีความสามารถในการแข่งขันเหนือคู่แข่ง ทั้งนี้ทั้งนั้น การจัดการความเสี่ยงไม่ใช่ความรับผิดชอบของผู้บริหารฝ่ายเดียว แต่ยังรวมไปถึงพนักงานทุกฝ่ายในองค์การ ซึ่งล้วนสามารถช่วยในการหาแนวทางป้องกันและจัดการกับความเสี่ยงของแต่ละแผนกได้เช่นกัน

 ______________________________________________ 


เอกสารอ้างอิง

นุชนารถ รัตนสุวงศ์ชัย. 2557. การจัดการธุรกิจนำเที่ยว. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: ภาค
วิชาศิลปาชีพ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ. การบริหารความเสี่ยง. เข้าถึงได้จาก: http://
www.thai-sciencemuseum.com/risk/. (สืบค้นเมื่อวันที่ 5 พฤษจิกายน 2558).
ดร. ชัยเสฏฐ์ พรหมศรี. 2550. การบริหารความเสี่ยง. กรุงเทพฯ: บริษัท เอ็กซเปอร์เน็ท
จำกัด.
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย. 2557. กรอบการบริหารความเสี่ยงองค์กร (ERM
Framework. เข้าถึงได้จาก: https://www.set.or.th/th/about/overview/files/ Risk_2015_v2.pdf. (สืบค้นเมื่อวันที่ 7 พฤษจิกายน 2558).
วิสสุตา แจ้งประจักษ์. 2558. ทิศทางการบินของไทยหลังการแจ้งเตือนของ ICAO.
เข้าถึงได้จาก: https://www.scbeic.com/th/detail/product/1358. (สืบค้นเมื่อวันที่ 15
พฤษจิกายน 2558).



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น