วันศุกร์ที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559

การจัดการความเสี่ยงในธุรกิจนำเที่ยว (Inbound)




การจัดการความเสี่ยงในธุรกิจนำเที่ยว
ของผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวเข้าในประเทศ (Inbound Tour Operator)


นิสิตภาควิชาศิลปาชีพ กลุ่มที่ 6 ปีการศึกษา 2558
คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์


บทคัดย่อ

ความเสี่ยงในธุรกิจคือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดคิดหรืออาจเป็นเหตุการณ์ที่องค์การไม่ต้องการให้เกิดขึ้น (Queensland Tourism, 2009) ด้วยเหตุนี้ ผู้ประกอบการจึงต้องมีแนวทางในการจัดการความเสี่ยงให้อยู่ภายในขอบเขตที่สามารถควบคุมได้ การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการจัดการความเสี่ยงในธุรกิจนำเที่ยวเข้าในประเทศ (Inbound Tour Operator) ซึ่งเก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้างกับผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวเข้าในประเทศ 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท นวทรรศน์ ฮอสพิทัลลิตี้ จำกัด (Navatas Hospitality Co., Ltd.) บริษัท แอลเจ บิสซ์ จำกัด (LJ Biz Co., Ltd.) และบริษัท เดสติเนชั่น เอเชีย จำกัด (Destination Asia Co., Ltd.) และจากเอกสาร ตำรา และแหล่งข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง โดยศึกษาในเรื่อง 1) ความเสี่ยงและสาเหตุความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในธุรกิจนำเที่ยว 2) ประเภทของความเสี่ยง 3) กลยุทธ์การป้องกันความเสี่ยง และแนวทางในการลดผลกระทบความเสี่ยงขององค์การ จากการศึกษาพบว่าการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตลอดเวลา การปรับตัวของธุรกิจให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมจึงเป็นงานที่จำเป็นและท้าทายสำหรับผู้บริหารที่จะต้องติดตามและทำความเข้าใจ เพื่อที่จะกำหนดแนวทางการดำเนินงานให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน โดยสภาพแวดล้อมธุรกิจ หมายถึง สิ่งต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ และในทางกลับกันก็สามารถได้รับผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจ ซึ่งความเสี่ยงนั้นอาจส่งผลกระทบต่อรายได้ กำไร และสินทรัพย์ของบริษัท รวมถึงเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้บริหารขององค์การจัดการกับความไม่แน่นอนของความเสี่ยง ซึ่งเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์ต่างๆ ดังนั้นการบริหารความเสี่ยงถือเป็นส่วนสำคัญในการแก้ไขการบริหารจัดการ ซึ่งต้องมีการเตรียมความพร้อมทั้งทางด้านกลยุทธ์ระดับกลยุทธ์ กลยุทธ์ระดับธุรกิจ หรือกลยุทธ์ระดับหน้าที่ ทั้งทางด้านการตลาดและการควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน โดยทุกหน่วยงานจะต้องร่วมมือกันหาแนวทางป้องกันหรือบรรเทาความเสียหายจากความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริหารหรือฝ่ายตรวจสอบควรจะมีการติดตาม ประเมินความเสี่ยง และควบคุมอย่างต่อเนื่องเพื่อการดำเนินงานที่ทันต่อสถานการณ์
คำสำคัญ: การจัดการความเสี่ยง, การจัดการความเสี่ยงในธุรกิจนำเที่ยวเข้าในประเทศ, ความเสี่ยงของธุรกิจนำเที่ยว, ประเภทของความเสี่ยง, กลยุทธ์การป้องกันความเสี่ยง, แนวทางในการลดผลกระทบความเสี่ยง
______________________________________________ 



ความเสี่ยง
ความเสี่ยง คือ เหตุการณ์ หรือการกระทำใดๆที่อาจเกิดขึ้นภายใต้สถานการณ์ที่ไม่แน่นอน และจะส่งผลกระทบ หรือสร้างความเสียหาย หรือความล้มเหลว หรือลดโอกาสที่จะบรรลุความสำเร็จต่อการบรรลุเป้าหมาย และวัตถุประสงค์ทั้งในระดับองค์กร ระดับหน่วยงาน และบุคลากรได้ (จิรพร สุเมธีประสิทธิ์, 2556: 30)
ปัจจัยเสี่ยง (Risk Factor) หมายถึง ต้นเหตุหรือสาเหตุที่มาของความเสี่ยงที่จะทำให้ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ โดบต้องระบุได้ด้วยว่าเหตุการณ์นั้นจะเกิดที่ไหน เมื่อใด และเกิดขึ้นได้อย่างไร และทำไมจึงเกิดขึ้น ทั้งนี้สาเหตุของความเสี่ยงที่ระบุ ควรเป็นสาเหตุที่แท้จริง เพื่อจะได้วิเคราะห์ และกำหนดมาตรการลดความเสี่ยงได้ถูกต้อง

แหล่งที่มาของความเสี่ยง
                    จิรพร สุเมธีประสิทธิ์ (2556: 34) กล่าวว่า แหล่งที่มาของความเสี่ยงประกอบด้วย 2 แหล่งใหญ่ๆ คือ ความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก และความเสี่ยงจากปัจจัยภายใน ดังรายละเอียดดังนี้
1) ปัจจัยความเสี่ยงภายนอก หมายถึง อุปสรรค (Threats) จากปัจจัยภายนอกที่ควบคุมยาก หรือไม่สามารถควบคุมได้ หรือไม่สามารถเปลี่ยนโอกาส (Opportunities) หรือส่งผลกระทบและเป็นอุปสรรคต่อการปฎิบัติตามแผนกลยุทธ์เพื่อบรรลุเป้าหมาย ได้แก่ ปัจจัยด้านกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ปัจจัยด้านการตลาด ปัจจัยด้านเทคโนโลยี ปัจจัยทางการเมืองและข้อกำหนดของทางการ ปัจจัยเสี่ยงทางด้านการเมืองและสังคม ปัจจัยเสี่ยงทางด้านสิ่งแวดล้อมและภัยธรรมชาติ ปัจจัยเสี่ยงทางด้านการเงินและเศรษฐกิจ และปัจจัยเสี่ยงทางด้านกฏหมาย
2) ปัจจัยความเสี่ยงภายใน หมายถึง ปัจจัยความเสี่ยงที่ควบคุมได้ แต่ส่งผลกระทบ หรือเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการตามแผนกลยุทธ์ให้บรรลุเป้าหมาย ได้แก่ โครงสร้างองค์กร กระบวนการและวิธีปฏิบัติงาน ความเพียงพอและคุณภาพของบุคลากร ความเพียงพอของข้อมูลและเทคโนโลยีสำหรับการผลิตและการให้บริการ ปัจจัยเสี่ยงทางด้านเทคโนโลยี การขาดแคลนทรัพยากร ปัจจัยด้านวัฒนธรรมองค์กร ปัจจัยด้านจริยธรรมของบุคลากร และปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมในการทำงาน
ซึ่งจะแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยความเสี่ยงภายนอกและปัจจัยความเสี่ยงภายในตามแผนภาพ ดังต่อไปนี้




จากภาพข้างต้น เป็นหน้าที่ของผู้บริหารที่จะต้องพิจารณาปัจจัยความเสี่ยงภายนอก และปัจจัยความเสี่ยงภายในประกอบกัน เนื่องจากปัจจัยภายนอกที่เข้ามากระทบองค์กรจะทำให้เกิดเป็นความเสี่ยงที่กระตุ้นความเสี่ยงจากปัจจัยความเสี่ยงภายใน หรืออาจเป็นความเสี่ยงใหม่ ซึ่งผู้บริหารต้องหาวิธีจัดการเพื่อปิดช่องว่างความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น
ความเสี่ยงเหล่านี้ต้องทำการทบทวนอยู่สม่ำเสมอ ในระยะเวลาที่เหมาะสม ทำให้องค์กร และผู้ที่เกี่ยวข้องต้องทำการประเมินความเสี่ยงที่เกิดจากปัจจัยภายใน และปัจจัยภายนอกอยู่เป็นระยะๆ ความสนใจในผลิตภัณฑ์ของผู้บริโภคเปลี่ยนไป ส่งผลต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการบริการ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค
กลุ่มลูกค้ากลุ่มใหม่ ช่องทางการเข้าถึงผลิตภัณฑ์เป็นแบบใหม่ เช่น การใช้ช่องทางแบบ   E-channel ทำให้ต้องปรับปรุงโครงสร้างการทำงานของฝ่ายขาย ฝ่ายบัญชี เป็นต้น
ประเภทของความเสี่ยง
นุชนารถ รัตนสุวงศ์ชัย (2558: 379) กล่าวว่า ธุรกิจนำเที่ยวเป็นธุรกิจที่มีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางธุรกิจ ได้แก่ ลักษณะประชากรศาสตร์ของนักท่องเที่ยว เศรษฐกิจ สภาพแวดล้อม การเมือง กฏหมาย เทคโนโลยี สังคมและวัฒนธรรม เมื่อตัวแปรดังกล่าวมีการเปลี่ยนแปลง ก็จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจนำเที่ยวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ธุรกิจนำเที่ยวจึงมีความเสี่ยงหลากหลายด้านซึ่งแบ่งเป็นความเสี่ยงโดยทางตรง และความเสี่ยงโดยทางอ้อม ดังนี้

ความเสี่ยงโดยทางตรง
ความเสี่ยงโดยทางตรง คือ เหตุการณ์ใดๆ ก็ตามที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด หรือไม่ต้องการให้เกิดขึ้นและส่งผลกระทบเชิงลบแก่องค์การโดยตรงซึ่งไม่ผ่านกลุ่มบุคคลหรือองค์การอื่นๆ ความเสี่ยงทางตรงแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นภายในองค์การ และ ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากภายนอกองค์การ

1) ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นภายในองค์การ คือ ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากความไม่มีประสิทธิภาพขององค์การเอง ซึ่งแบ่งได้เป็น 4 ด้าน (นุชนารถ รัตนสุวงศ์ชัย, 2558: 380) คือ
·      ความเสี่ยงด้านกลยุทธ์และการบริหารงาน เป็นความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดผลกระทบแก่องค์การอย่างมาก เนื่องจากกลยุทธ์ต่างๆล้วนเป็นหนทางหลักในการดำเนินธุรกิจ ทั้งนี้ผู้บริหารจำเป็นต้องบริหารและจัดการทรัพยากรทั้งหมดขององค์การให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามวัตถุประสงค์ขององค์การที่กำหนดไว้ (Dickson, 2009: 196) จากการสัมภาษณ์บริษัท นวทรรศน์ ฮอสพิทัลลิตี้ จำกัด และบริษัท เดสติเนชั่น เอเชีย จำกัด มีปัจจัยที่ทำให้เกิดความเสี่ยงที่ตรงกัน คือ ความไม่มีประสิทธิภาพในการวางแผนด้านต่างๆ ตัวอย่างเช่น บริษัท นวทรรศน์ ฮอสพิทัลลิตี้ มีผู้บริหารที่มีความสามารถในการบริหารจัดการ ทำให้บริษัทดำเนินงานได้อย่างสะดวกและราบรื่น แต่ในขณะเดียวกันผู้บริหารยังบริหารบริษัทอื่นในเครือด้วย ทำให้เสี่ยงต่อคุณภาพการบริหารที่เท่ากันในแต่ละบริษัท และอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงในเรื่องของนโยบายที่ไม่ตอบสนองหรือไม่ครอบคลุมต่อการบริหารธุรกิจได้ เนื่องจากไม่ได้รับการร่วมแสดงความคิดเห็นจากบุคลากรหรือบริษัทที่ทำงานร่วมกัน ทำให้ไม่สามารถมองเห็นถึงแก่นของปัญหาในแต่ละจุดที่จะนำมาปรับแก้ไข อีกทั้งบริษัท เดสติเนชั่น เอเชีย ยังเป็นบริษัทที่มีสาขาทั่วทวีปเอเชียมากถึง 11 สาขา ส่งผลให้ผู้บริหารดูแลกิจการได้ไม่ทั่วถึง และอาจทำให้เกิดความขัดแย้งภายในหรือระหว่างบริษัทได้ ทางด้านบริษัท แอลเจ บิสซ์ จำกัด พบปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเสี่ยง คือ การไม่มีแผนในการป้องกันหรือแก้ไขความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น จากการสัมภาษณ์พบว่า ทางบริษัทไม่มีการกำหนดนโยบายขององค์กรที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นนโยบายด้านการตลาด และนโยบายด้านการจัดการความเสี่ยง เมื่อเกิดปัญหาขึ้นบริษัทจึงไม่สามารถจัดการแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะไม่มีขั้นตอนการวางแผนที่ชัดเจน
·      ความเสี่ยงด้านการเงิน ก่อให้เกิดความไม่คล่องตัวและความมั่นคงทางการเงินซึ่งอาจทำให้ศักยภาพทางการตลาด การผลิต และการพัฒนาบุคลากรลดลง ซึ่งส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันลดลง จากการสัมภาษณ์บริษัท นวทรรศน์ ฮอสพิทัลลิตี้ และบริษัท แอลเจ บิสซ์ พบว่าความเสี่ยงทางด้านการเงินที่ส่งผลโดยตรงต่อองค์กร เนื่องจากบริษัทเป็นธุรกิจนำเที่ยวขนาดเล็ก (SMEs) ทำให้ทางบริษัทไม่มีเงินหมุนเวียนในการประกอบธุรกิจมากนัก ส่งผลให้การลงทุนในด้านต่างๆ เช่น ด้านการตลาด การปรับเปลี่ยนรูปแบบผลิตภัณฑ์ ฯลฯ เป็นไปได้ค่อนข้างยากและล่าช้า เพราะไม่สามารถลงทุนได้เต็มที่ด้วยเงินจำนวนมาก
·      ความเสี่ยงด้านการตลาด มีผลต่อปริมาณการขายและรายได้ขององค์การ ซึ่งส่งผลกระทบเชิงลูกโซ่ต่อสภาวะทางการเงินขององค์การในลำดับต่อมา จากการสัมภาษณ์บริษัท นวทรรศน์ ฮอสพิทัลลิตี้ จำกัดและบริษัท แอลเจ บิสซ์ จำกัด พบว่าบริษัทมีปัจจัยด้านการตลาดที่ทำให้เกิดความเสี่ยงที่ตรงกัน เนื่องจากทั้ง 2 บริษัท ประกอบธุรกิจนำเที่ยวขนาดเล็ก (SMEs) จึงไม่เหมาะที่จะทุ่มเงินจำนวนมากไปกับการทำการตลาด ดังนั้นบริษัทจึทำการตลาดโดยเน้นการใช้สื่อออนไลน์ ซึ่งเป็นเครื่องมือสื่อสารการตลาดที่ง่ายต่อการเข้าถึงกลุ่มลูกค้า และการบอกต่อแบบปากต่อปากเพียงเท่านั้น ทางด้านบริษัท เดสติเนชั่น เอเชีย จำกัด พบว่าในปัจจุบันมีจำนวนผู้ประกอบธุรกิจทางการท่องเที่ยวมากขึ้น ส่งผลให้จำนวนลูกค้าลดน้อยลง เพราะส่วนแบ่งทางการตลาดถูกแบ่งออกไป ดังนั้นทางบริษัท เดสติเนชั่น เอเชีย จำกัด จึงมีการทำการตลาดอยู่เสมอ เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าใหม่ และคงไว้ซึ่งความภักดีจากลูกค้าเดิม
·      วามเสี่ยงด้านการดำเนินงาน ซึ่งครอบคลุมงานในแผนกการผลิต แผนกพัฒนาบุคลากร และแผนกธุรการ จากการสัมภาษณ์พบว่าบริษัท นวทรรศน์ ฮอสพิทัลลิตี้ จำกัดและบริษัท แอลเจ บิสซ์ จำกัด มีความเสี่ยงที่คล้ายคลึงกัน คือ บุคลากรมีภาระงานที่ต้องรับผิดชอบจำนวนมาก ซึ่งพนักงานหนึ่งคนต้องสามารถทำงานได้หลายหน้าที่ อีกทั้งบริษัท นวทรรศน์ ฮอสพิทัลลิตี้ นิยมคัดเลือกบุคลากรที่เป็นคนรุ่นใหม่ ทันต่อเทคโนโลยี ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความผิดพลาดในด้านการทำงาน การตัดสินใจ และการลาออก ส่วนบริษัท เดสติเนชั่น เอเชีย จำกัด เนื่องจากเป็นบริษัทขนาดใหญ่ อาจทำให้การดำเนินงานภายในเกิดการทับซ้อนกันของงาน การประสานงานไม่ตรงกัน และเกิดข้อผิดพลาดขณะทำงานได้
2) ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากภายนอกองค์การ หมายถึง อุปสรรค (Threats) จากปัจจัยภายนอกที่ยากต่อการควบคุมหรือบริหารจัดการ หรือไม่สามารถควบคุมได้ หรือไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเป็นโอกาส (Opportunities) หรือส่งผลกระทบและเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติตามแผนกลยุทธ์เพื่อบรรลุเป้าหมาย (จิรพร สุเมธีประสิทธิ์, 2556: 34) ซึ่งองค์การสามารถใช้แผนการป้องกันและการลดผลกระทบเมื่อองค์การต้องเผชิญความเสี่ยงเหล่านี้ได้โดยการจัดการที่เป็นระบบ โดยความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากภายนอกองค์การนั้น เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมภายนอก เช่น เศรษฐกิจตกต่ำ การเมือง ค่าครองชีพสูงขึ้น การเปลี่ยนแปลงค่าเงินของประเทศคู่ค้า การแข่งขันสูงขึ้น ค่านิยมเปลี่ยนไป การพัฒนาของการสำรองผ่านอินเตอร์เน็ต ภัยธรรมชาติและการก่อการร้าย ฯลฯ (นุชนารถ รัตนสุวงศ์ชัย, 2558: 381) ดังนี้
·      สภาพเศรษฐกิจตกต่ำ ส่งผลให้นักท่องเที่ยวออมเงินเพื่อจ่ายกับสิ่งจำเป็นมากขึ้น ทำให้อุปสงค์ในการเดินทางท่องเที่ยวลดลง ซึ่งส่งผลให้โอกาสในการขายน้อยลง จากการสัมภาษณ์ทั้ง 3 บริษัท มองว่าเศรษฐกิจเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดอำนาจการซื้อ ของลูกค้า ขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของรายได้ ซึ่งกลุ่มลูกค้าของทั้ง 3 บริษัทเป็นนักท่องเที่ยวที่มาจากต่างประเทศทั้งหมด ล้วนได้รับผลกระทบโดยตรงจากสภาวะเศรษฐกิจโลกตกต่ำ ทั้งนี้จึงส่งผลให้นักท่องเที่ยวตระหนักถึงการใช้จ่ายและเลือกตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออก จากการตัดสินใจของนักท่องเที่ยวและการตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกนั้น ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัท ทำให้โอกาสในการขายและยอดการจองลดน้อยลง
·      การเมืองไม่มั่นคง จากการสัมภาษณ์บริษัท นวทรรศน์ ฮอสพิทัลลิตี้ จำกัด บริษัท แอลเจบิสซ์ จำกัด และบริษัท เดสติเนชั่น เอเชีย จำกัด พบว่าผู้บริหารทั้ง 3 บริษัท มีมุมมองต่อความเสี่ยงทางการเมืองที่ตรงกัน โดยมองว่าปัญหาทางการเมืองเป็นปัญหาที่มีอิทธิพลและสร้างผลกระทบอย่างมากต่อการตัดสินใจซื้อของนักท่องเที่ยว เนื่องจากนักท่องเที่ยวค่อนข้างให้ความสนใจกับเหตุการณ์ทางการเมือง ซึ่งส่งผลกระทบต่อบริษัท และทำให้นักท่องเที่ยวตัดสินใจเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยน้อยลง หรือเปลี่ยนจุดมุ่งหมายไปยังประเทศอื่นแทน
·      ภัยธรรมชาติและการก่อการร้าย เช่น น้ำท่วม แผ่นดินไหว การก่อความไม่สงบ ระเบิด การปิดสนามบิน ฯลฯ เป็นเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจนำเที่ยวเข้าในประเทศมากที่สุด โดยเฉพาะการก่อการร้าย ตัวอย่างเช่น เหตุการณ์ระเบิดบริเวณสี่แยกพระพรหมเอราวัณที่ผ่านมา จากการสัมภาษณ์ทั้ง 3 บริษัท ความเสี่ยงด้านนี้จัดเป็นความเสี่ยงที่ทุกบริษัทไม่สามารถคาดการณ์และควบคุมได้ ซึ่งสร้างความเสียหายและส่งผลกระทบต่อองค์การเป็นอย่างมาก ทำให้นักท่องเที่ยวไม่กล้าเดินทางท่องเที่ยวซึ่งทำให้อุปสงค์ในการเดินทางท่องเที่ยวลดลง อีกทั้งนักท่องเที่ยวยังเลือกที่จะไม่เดินทางเข้าและออกนอกประเทศ ซึ่งส่งผลให้รายได้ของบริษัทลดลงด้วยเช่นกัน นอกจากนี้บริษัทยังเสี่ยงกับการพานักท่องเที่ยวเดินทางไปยังสถานที่ที่ใกล้เคียงกับเขตที่เกิดภัยธรรมชาติหรือการก่อการร้ายบ่อยครั้ง
·      โรคระบาด เช่น โรคอีโบล่า โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (SARS) ไข้หวัดนก ฯลฯ เมื่อเกิดโรคระบาดทำให้ขั้นตอนการตรวจคนเข้าเมืองยุ่งยากและเข้มงวดมากขึ้น รวมถึงรัฐบาลบางประเทศ มีการออกประกาศเตือนประชาชนของตนไม่ให้เดินทางเข้าไปยังประเทศที่มีโรคระบาด ทำให้นักท่องเที่ยวบางคนเลือกที่จะไม่เดินทางเข้าและออกนอกประเทศ เพราะเกรงว่าจะติดโรคระบาด ส่งผลให้นักท่องเที่ยวไม่กล้าเดินทางท่องเที่ยวซึ่งทำให้อุปสงค์ในการเดินทางท่องเที่ยวลดลง โรคภัยที่เกิดขึ้นใหม่ล้วนมีผลต่อการรับรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยว ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจและรายได้ของบริษัทอีกด้วย
·      การแข่งขันสูงขึ้น เนื่องจากการดำเนินธุรกิจท่องเที่ยวมีกระแสนิยมเกิดขึ้นใหม่อยู่ตลอดเวลา ทำให้บริษัทต้องพัฒนาและปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ตามความต้องการของกลุ่มเป้าหมายอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) รวมถึงจำนวนผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวเข้าในประเทศที่มีจำนวนมากขึ้น ทั้งผู้ประกอบการที่เป็นคนไทยและต่างชาติ ประกอบกับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่นิยมเดินทางท่องเที่ยวเองมากขึ้น จากการให้สัมภาษณ์ของผู้บริหารทั้ง 3 บริษัท องค์การมีการเตรียมตัวรับมือ รวมถึงปัญหาทางด้านคู่แข่งที่มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงด้านกลยุทธ์การตลาด ในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดและเติบโตให้เหนือกว่าคู่แข่ง จึงทำให้การแข่งขันทางการตลาดสูงขึ้น ส่งผลให้องค์การมีค่าใช้จ่ายด้านการตลาดที่เพิ่มมากขึ้น เพื่อกระตุ้นและดึงดูดให้กลุ่มเป้าหมายมาซื้อรายการนำเที่ยวกับบริษัท
·      สภาพอากาศ จากการสัมภาษณ์ผู้บริหารของบริษัท แอลเจ บิสซ์ จำกัด กล่าวว่าสภาพอากาศก่อให้เกิดอุปสรรคทางการท่องเที่ยว และอาจทำให้ต้องมีการปรับรายการนำเที่ยวตามสภาพอากาศ ตัวอย่างเช่น ทางบริษัทมีรายการนำเที่ยว “Eat Walk Talk Tour” ซึ่งเป็นลักษณะการนำเที่ยวที่ใช้การเดินทั้งโปรแกรม (Walking Tour) เมื่อเกิดพายุฝน รายการนำเที่ยวจึงเกิดความล่าช้า ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพและความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว รวมถึงอาจส่งผลกระทบให้ต้องยกเลิกรายการนำเที่ยว และการขาดทุนของบริษัท
·      การเปลี่ยนแปลงค่าเงินของประเทศคู่ค้า ด้วยอัตราการแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศที่ไม่แน่นอนทำให้การคาดการณ์รายได้และกำไรไม่เที่ยงตรง ในกรณีที่เป็นบริษัทนำเที่ยวเข้าในประเทศ หากองค์การแลกเปลี่ยนเงินต่างประเทศได้น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ จะทำให้กำไรลดลงหรือขาดทุน จากการสัมภาษณ์บริษัททั้ง 3 บริษัท เห็นว่าอัตราแลกเปลี่ยนนั้นคาดเดาได้ยาก เนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนนั้นอ่อนไหวต่อปัจจัยต่างๆ ที่มากระทบทั้งภายในประเทศและภายนอกประเทศ ทำให้ปัจจุบันค่าเงินบาทของไทยเริ่มอ่อนตัวลง อันเป็นผลมาจากสภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ซึ่งส่งผลให้บริษัทมีรายได้ลดน้อยลงหรือขาดทุนในผลประกอบการ
·      การพัฒนาของการสำรองผ่านอินเตอร์เน็ต เนื่องจากปัจจุบันนักท่องเที่ยวสำรององค์ประกอบการเดินทางท่องเที่ยวกับผู้จัดส่งปัจจัยการผลิตโดยตรงและเดินทางด้วยตนเอง จึงทำให้อุปสงค์ในการซื้อผลิตภัณฑ์กับผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวลดลง จากการสัมภาษณ์บริษัท เดสติเนชั่น เอเชีย จำกัด กล่าวว่าในยุคโลกาภิวัฒน์ทำให้เทคโนโลยีต่างๆ พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว การเข้าถึงสิ่งต่างๆ เป็นไปได้อย่างง่ายดายและสะดวกสบาย ดังนั้นการวางแผนและเดินทางท่องเที่ยวด้วยตนเองจึงเป็นเรื่องง่ายสำหรับนักท่องเที่ยว จึงทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางท่องเที่ยวด้วยตนเองมากขึ้น การใช้บริการของบริษัททัวร์ลดน้อยลง ส่งผลให้บริษัททัวร์มีจำนวนยอดขายที่ลดลง

ความเสี่ยงโดยทางอ้อม

นุชนารถ รัตนสุวงศ์ชัย (2558: 390) กล่าวว่า ความเสี่ยงทางอ้อม คือ เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดและไม่แน่นอนเกิดขึ้นกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียขององค์การและส่งผลกระทบถึงองค์การโดยทางอ้อม ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่มีโอกาสได้รับความเสี่ยงและส่งผลกระทบถึงองค์การ ประกอบด้วย 2 กลุ่มหลัก คือ นักท่องเที่ยว และผู้จัดส่งปัจจัยการผลิต

1) ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่เผชิญความเสี่ยงหลากหลายด้านเช่นกัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมภายนอก (Moutinho, 2000:52; Dorf and Byers, 2008:134) ได้แก่
·      ความไม่มั่นคงทางการเมืองของประเทศไทย เนื่องจากประเทศไทยมีปัญหาด้านการเมืองมาเป็นเวลานาน เช่น การชุมนุมประท้วง การปิดสนามบิน ฯลฯ ส่งผลให้เกิดวิกฤตการณ์ที่อาจเป็นภัยอันตรายต่อตัวนักท่องเที่ยวได้ ดังนั้นนักท่องเที่ยวจึงอาจเลี่ยงการเดินทางมายังประเทศไทย และเลือกเดินทางไปท่องเที่ยวยังประเทศเพื่อนบ้านแทน ซึ่งปัจจัยนี้เป็นปัจจัยที่ทั้ง 3 บริษัทมองว่าเป็นสิ่งที่อาจทำให้บริษัทสูญเสียนักท่องเที่ยว และมีรายได้ลดลง
·      อาชญากรรมระหว่างการเดินทางท่องเที่ยวทำให้นักท่องเที่ยวเกิดความไม่เชื่อมั่นในการบริการของบริษัท และเลือกที่จะไม่กลับมาใช้บริการกับบริษัทอีก ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และยอดขายของบริษัท จากการที่นักท่องเที่ยวบอกต่อในแง่ลบแต่ปัญหาอาชญากรรมเป็นสิ่งที่คาดการณ์ไม่ได้แต่สามารถป้องกันได้ ดังนั้นจากการสัมภาษณ์บริษัทนำเที่ยวทั้ง 3 บริษัทจึงทำได้เพียงการมอบหมายให้มัคคุเทศก์เตือนนักท่องเที่ยวให้ระวังทรัพย์สินของตนเองอยู่เสมอ และให้มัคคุเทศก์คอยดูแลความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวให้ดีที่สุด
·      วิกฤติเศรษฐกิจในประเทศของนักท่องเที่ยว ส่งผลให้นักท่องเที่ยวระมัดระวังในการใช้จ่ายเงินมากขึ้น โดยจะซื้อเฉพาะสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ไม่ซื้อสินค้าที่ฟุ่มเฟือย ซึ่งการท่องเที่ยวถือเป็นสินค้าฟุ่มเฟื่อยอย่างหนึ่ง ตัวอย่างเช่น บริษัท แอลเจ บิสซ์ จำกัด มีลูกค้ากลุ่มเป้าหมายหลักเป็นชาวยุโรปและชาวอเมริกันที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำจึงส่งผลกระทบต่อบริษัท คือ มียอดขายรายการนำเที่ยวลดลง
·      ความไม่มีคุณภาพของผลิตภัณฑ์และบริการ เนื่องจากรายการนำเที่ยวบางรายการของทั้ง 3 บริษัทมีการพานักท่องเที่ยวไปทานอาหารท้องถิ่น หรืออาหารข้างทาง (Street Food) ตัวอย่างเช่น บริษัท นวทรรศน์ ฮอสพิทัลลิตี้ จำกัด เน้นขายผลิตภัณฑ์หลักที่เกี่ยวข้องกับอาหารโดยเฉพาะ ซึ่งร้านอาหารในรายการนำเที่ยวทุกรายการเป็นร้านอาหารท้องถิ่น และบางร้านตั้งอยู่บริเวณริมถนน ซึ่งอาจเกิดความเสี่ยงกับนักท่องเที่ยวในเรื่องอาหารเป็นพิษ หรืออาการท้องร่วง ซึ่งทำให้องค์การต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาให้กับนักท่องเที่ยว รวมถึงกระทบต่อชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของบริษัทอีกด้วย
2) ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับผู้จัดส่งปัจจัยการผลิต เป็นสิ่งที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เนื่องจากผู้จัดส่งปัจจัยการผลิต เช่น บริษัทสายการบิน ร้านอาหาร โรงแรม รถโดยสาร ฯลฯ มีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมภายนอกเช่นเดียวกันกับผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว อีกทั้งผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวยังต้องอาศัยสินค้า และบริการต่างๆจากผู้จัดส่งปัจจัยการผลิต ดังนั้น หากผู้จัดส่งปัจจัยการผลิตได้รับความเสียหาย หรือสูญเสียจากความเสี่ยง แน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวด้วยเช่นเดียวกัน ผลกระทบที่เกิดขึ้น คือ ความเสี่ยงที่องค์การจะต้องเผชิญซึ่งอาจเป็นความเสี่ยงด้านชื่อเสียง ความเสี่ยงด้านการปฏิบัติงาน หรือด้านการผลิต และความเสี่ยงด้านการตลาด
·      บริษัทสายการบิน สืบเนื่องมาจากปัญหาทางการเมืองที่อาจทำให้เกิดการปิดสนามบิน ทำให้นักท่องเที่ยวเกิดภาพลักษณ์ด้านลบเกี่ยวกับประเทศไทย ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวที่มีต่อการเดินทางมาท่องเที่ยวยังประเทศไทย และถือเป็นความเสี่ยงด้านชื่อเสียง หรือการที่เที่ยวบินล่าช้าที่ถือเป็นความผิดของสายการบินเอง นักท่องเที่ยวจึงเกิดปัญหาในการเดินทางทำให้บริษัทเกิดความเสี่ยงด้านการตลาดจากการที่ลูกค้าตำหนิบริษัท และสูญเสียรายได้จากการที่ลูกค้าเลื่อนหรือยกเลิกการเดินทาง
·      ร้านอาหารเกี่ยวข้องกับเรื่องคุณภาพของอาหาร และความไม่พร้อมในการให้บริการ เช่น วัตถุดิบไม่สะอาด การมีพนักงานไม่เพียงพอที่จะให้บริการ ฯลฯ ซึ่งทั้ง 3 บริษัทมองว่าเป็นความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นกับบริษัทได้ เนื่องจากทุกรายการนำเที่ยวของทั้ง 3 บริษัทต้องพานักท่องเที่ยวไปรับประทานอาหาร โดยเฉพาะบริษัท นวทรรศน์ ฮอสพิทัลลิตี้ จำกัดที่จัดว่าเป็นผลิตภัณฑ์หลักของรายการนำเที่ยว ซึ่งความเสี่ยงในด้านนี้อาจก่อให้เกิดการตำหนิจากลูกค้า และเกิดการบอกต่อในแง่ลบ ส่งผลต่อชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของบริษัทซึ่งอาจทำให้ยอดการจองรายการนำเที่ยวนั้นลดน้อยลง
·      โรงแรม/ที่พักตากอากาศ เนื่องจากธุรกิจนำเที่ยวเป็นธุรกิจที่เป็นฤดูกาล ทำให้ห้องพักมีราคาที่ขึ้นลงอยู่ตลอดเวลา โดยในฤดูท่องเที่ยวห้องพักจะมีราคาสูง ในขณะเดียวกันนักท่องเที่ยวก็มีจำนวนมากทำให้ห้องพักอาจเต็ม ซึ่งส่งผลกระทบต่อบริษัทในเรื่องการจองห้องพักให้กับนักท่องเที่ยว ซึ่งบริษัท เดสติเนชั่น เอเชีย จำกัด มองว่าเป็นความเสี่ยงหนึ่งของบริษัท โดยถือเป็นความเสี่ยงด้านการปฏิบัติงานหรือด้านการผลิต ทำให้บริษัทต้องมีการทำสัญญากับโรงแรมไว้ล่วงหน้าเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น
·      รถโดยสาร ในระหว่างการเดินทางของนักท่องเที่ยวอาจเกิดอุบัติเหตุ หรือการจี้ชิงทรัพย์ขึ้นได้ ถึงแม้ว่าอุบัติเหตุและการจี้ชิงทรัพย์จะเป็นสิ่งที่คาดการณ์ไม่ได้ แต่ย่อมส่งผลกระทบต่อรายได้ ชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของบริษัท คือ นักท่องเที่ยวอาจได้รับบาดเจ็บ หรือทรัพย์สินสูญหาย ซึ่งก่อให้เกิดความไม่เชื่อมั่นในด้านความปลอดภัยของบริษัท และไม่กลับมาใช้บริการอีก ความเสี่ยงอีกอย่างหนึ่ง คือ ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้บริษัทต้องเผชิญความเสี่ยงด้านการปฏิบัติงาน หรือด้านการผลิต คือ บริษัทต้องมีต้นทุนในการดำเนินงานสูงขึ้นจึงทำให้บริษัทมีรายได้ที่ลดลง

แนวทางในการจัดการความเสี่ยง
                        นุชนารถ รัตนสุวงศ์ชัย (2558: 390) กล่าวว่า การจัดการความเสี่ยงที่เป็นระบบช่วยให้ผู้บริหารสามารถกำหนดกลยุทธ์ขององค์การให้เป็นไปในทิศทางเดียวกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ช่วยให้สามารถตัดสินใจได้ทันสถานการณ์ และช่วยลดความสูญเสียที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมีวิธีในการจัดการหรือตอบสนองความเสี่ยงได้ 5 วิธี คือ การหลีกเลี่ยงความเสี่ยง (Avoidance) การบรรเทาหรือลดความรุนแรงของความเสี่ยง (Mitigation/Reduction) การยอมรับความเสี่ยง (Acceptance) การถ่ายโอนความเสี่ยง (Transfer) และการแบ่งความเสี่ยง (Share) จากการสัมภาษณ์พบว่าทั้ง 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท นวทรรศน์ ฮอสพิทัลลิตี้ จำกัด บริษัท แอลเจ บิสซ์ จำกัด และบริษัท เดสติเนชั่น เอเชีย จำกัด มีแนวทางในการจัดการและตอบสนองความเสี่ยงในรูปแบบที่คล้ายคลึงกัน คือ การหลีกเลี่ยงความเสี่ยง (Avoidance) และการบรรเทาหรือลดความรุนแรงของความเสี่ยง (Mitigation/Reduction) ดังนี้ 

การหลีกเลี่ยงความเสี่ยง (Avoidance)

การหลีกเลี่ยงความเสี่ยง (Avoidance) ทางบริษัท นวทรรศน์ ฮอสพิทัลลิตี้ จำกัด ได้มีแนวทางในการหลีกเลี่ยงความเสี่ยง โดยการกำหนดนโยบายการตลาด ผู้บริหารได้ทำการวิเคราะห์ กำหนดตำแหน่งตลาด และเลือกกลุ่มตลาดเป้าหมายที่ชัดเจน โดยมุ่งเน้นการทำตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) ที่ขายผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวเกี่ยวกับอาหาร (Culinary Tourism) ทางผู้บริหารมีการทำวิจัย ค้นคว้าหาข้อมูล ประกอบกับความสนใจทางด้านอาหาร จึงเกิดเป็นบริษัทนำเที่ยวเข้าในประเทศแห่งแรกที่บริหารโดยคนไทย และทำรายการนำเที่ยวเฉพาะที่เกี่ยวกับอาหาร หรือเรียกว่า “Bangkok Food Tour” ส่งผลให้บริษัทสามารถลดและหลีกเลี่ยงความเสี่ยงทางการแข่งขันที่สูงขึ้นในปัจจุบัน โดยมุ่งเน้นการแข่งขันเฉพาะกลุ่มที่มีขนาดเล็กลง ส่วนทางด้านบริษัท เดสติเนชั่น เอเชีย จำกัด ได้ใช้กลยุทธ์นี้เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงทางด้านการแข่งขันที่สูงขึ้น แนวทางที่บริษัทเลือกทำ คือการทำผลิตภัณฑ์ให้โดดเด่น เพื่อสร้างคุณประโยชน์ของผลิตภัณฑ์ และใช้ผลิตภัณฑ์เป็นตัวดึงดูดกลุ่มลูกค้า ซึ่งทางบริษัทจะไม่เน้นแข่งขันทางด้านราคา

การบรรเทาหรือลดความรุนแรงของความเสี่ยง (Mitigation/Reduction)
 
การบรรเทาหรือลดความรุนแรงของความเสี่ยง ประกอบด้วย 2 วิธี ดังนี้
1) การป้องกันเพื่อลดโอกาสในการเกิดความเสี่ยง
·      บริษัท นวทรรศน์ ฮอสพิทัลลิตี้ จำกัด ให้ความสำคัญในการทำวิจัยและสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องจากความต้องการของลูกค้าและกระแสทางการท่องเที่ยวในปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น การสร้างแบรนด์ Smiling Tuk Tuk ที่นำเอกลักษณ์ของไทยมาสร้างประสบการณ์ที่แปลกใหม่และนำเสนอวิถีชีวิตของไทยให้กับนักท่องเที่ยว โปรแกรม Eat with local ของแบรนด์ Bangkok Food Tour ที่ค้นหาวิธีนำเสนออาหารท้องถิ่น ในรูปแบบที่เน้นการสร้างปฏิสัมพันธ์และประสบการณ์ระหว่างนักท่องเที่ยวกับคนท้องถิ่น และการสร้างแบรนด์นำเที่ยวออกนอกประเทศอย่าง Food Tour Singapore เพื่อลดโอกาสทางความเสี่ยงจากผลกระทบภายนอกที่ทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวในประเทศไทยน้อยลง เช่น เศรษฐกิจตกต่ำ ภัยธรรมชาติและการก่อการร้าย ฯลฯ อีกทั้งทางบริษัทยังให้ความสำคัญด้านการสำรวจและคัดเลือกร้านอาหารท้องถิ่นที่มีคุณภาพ เพื่อป้องกันเรื่องอาหารเป็นพิษหรืออาการท้องร่วง ซึ่งส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงของบริษัท
·      บริษัท แอลเจ บิสซ์ จำกัด มีการเปิดตลาดการท่องเที่ยวภายในประเทศ (Domestic) เพิ่ม เพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลให้นักท่องเที่ยวกลุ่มหลักเดินทางมาท่องเที่ยวยังประเทศไทยน้อยลง และการปรับรูปแบบรายการนำเที่ยวให้ตรงกับความต้องการของนักท่องเที่ยวอยู่เสมอ ซึ่งทางบริษัทมองว่าความเสี่ยงด้านการตลาดเป็นความเสี่ยงที่ควรให้ความสำคัญมากที่สุด จากพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
                                              ·        บริษัท เดสติเนชั่น เอเชีย จำกัด เนื่องจากเป็นผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวขนาดใหญ่จึงมีการตั้งทีมงานการจัดการในภาวะวิกฤติ (Crisis Management) เพื่อรองรับเหตุการณ์ที่ไม่ปกติอันอาจเกิดขึ้น ช่วยให้สามารถประเมินและแก้ไขสถานการณ์ในภาวะวิกฤตให้ผ่านพ้นไปได้จากการวิเคราะห์กระบวนการทำงานของบริษัท ตัวอย่างเช่น การจัดหาเครื่องโทรศัพท์ระบบดาวเทียม เพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยสามารถใช้ติดต่อได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเกิดเหตุการณ์เครือข่ายโทรศัพท์ในทุกระบบล่ม โทรศัพท์ระบบดาวเทียมก็จะเป็นเพื่อเป็นช่องทางพิเศษในการติดต่อสื่อสารได้อย่างดี ด้านระบบการบัญชาการ ต้องมีการสื่อสารอย่างดี มีแบบแผนอย่างชัดเจน เพราะการสั่งการแต่ละครั้งหมายถึงความเป็นความตายของหน่วยงาน หากสั่งผิดพลาดก็เกิดความเสียหาย ซึ่งไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ทันท่วงทีหรืออาจเสียทรัพยากรในการแก้ไขปัญหา และการตัดสินใจในภาวะวิกฤติ การตัดสินใจในรูปแบบนี้จะไม่เหมือนสถานการณ์ปกติ เพราะไม่มีโอกาสที่จะแก้ไข วางแผน ต้องปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ แต่อย่างไรก็ตาม การป้องกันเชิงรุก จะช่วยให้การตัดสินใจดีขึ้น เพราะมีการคิดและการวางแผนถึงสถานการณ์ล่วงหน้าไว้แล้ว
2) การลดความรุนแรงของผลกระทบเมื่อเกิดความเสี่ยง เนื่องจากบริษัท นวทรรศน์ ฮอสพิทัลลิตี้ และบริษัท แอลเจ บิสซ์ เป็นบริษัทนำเที่ยวขนาดเล็ก (SMEs) จึงมีแนวทางในการลดความรุนแรงของผลกระทบจากความเสี่ยงที่คล้ายคลึงกัน ตัวอย่างเช่น การใช้ทรัพยากรมนุษย์ภายในองค์การให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด โดยพนักงานหนึ่งคนสามารถทำงานได้หลายตำแหน่งงาน เพื่อลดผลกระทบทางความเสี่ยงในด้านการดำเนินงานและความเสี่ยงด้านการเงิน ในกรณีความเสี่ยงด้านการก่อการร้าย และการเมือง ทั้ง 3 บริษัท ให้ความสำคัญทางด้านการสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยว ไกด์ และพนักงาน องค์การจะเน้นการสื่อสารที่ชัดเจน นำเสนอข้อมูลตามความเป็นจริง และคอยอัพเดทสถานการณ์ผ่านเว็บไซต์ของบริษัทอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยว และเป็นการรักษาชื่อเสียงของบริษัท โดยเฉพาะทางบริษัท เดสติเนชั่น เอเชีย มีทีมงานการจัดการในภาวะวิกฤติ (Crisis Management) โดยเฉพาะ มีการติดต่อกับลูกค้าโดยตรง และทางบริษัทได้ปรึกษาและพูดคุยกับโรงแรมคู่ค้า เพื่อเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยให้มากขึ้น นอกจากนี้ทางบริษัทได้ส่ง E-News เพื่ออัพเดทข่าวสารให้กับลูกค้าด้วยว่าเหตุการณ์ตอนนี้เป็นอย่างไร โดยที่บริษัทจะไม่รอข่าวจากภาครัฐ ตัวอย่างเช่น เหตุการณ์ระเบิด ทางบริษัทย้ายลูกค้าทุกคนที่อยู่ในตัวเมือง ออกไปอยู่บริเวณรอบนอกตัวเมือง เพื่อสร้างความปลอดภัยและความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า และเหตุการณ์การปิดสนามบินกระบี่ เครื่องบินไม่สามารถลงจอดได้ (Delay) และทำให้นักท่องเที่ยวที่ต้องการจะบินกลับประเทศ ก็ไม่สามารถกลับได้เช่นกัน ทางบริษัทมีการแก้ไขปัญหาโดยการแจ้งข้อมูลข่าวสารให้กับนักท่องเที่ยวผ่านทาง E-News และอธิบายให้กับนักท่องเที่ยวที่ต้องการจะเดินทางไปกระบี่เข้าใจว่าไม่สามารถใช้สนามบินได้ อาจจะต้องเดินทางด้วยรถยนต์/รถโค้ช (Coach) แทน หากนักท่องเที่ยวไม่ต้องการเดินทางโดยรถยนต์หรือรถโค้ช ทางบริษัทจะคุยกับนักท่องเที่ยว และเปลี่ยนสถานที่ท่องเที่ยวที่มีความคล้ายคลึงให้ทันที

ความเสี่ยงของธุรกิจขนาดย่อมทุกชนิดสามารถลดลงได้ด้วยการจัดการที่ดีโดยอาศัยระบบการควบคุมก่อนการดำเนินงาน ดังนั้นกิจกรรมสามารถอาศัยระเบียบขั้นตอนการปฏิบัติงานและกฎระเบียบในด้านต่างๆ เป็นเครื่องมือในการป้องกันเพื่อกำจัดหรือลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นได้ เช่น กฎว่าด้วยความปลอดภัยในการทำงาน ขั้นตอนในการปฎิบัติงานในการใช้และการบำรุงรักษาอุปกรณ์ เป็นต้น ซึ่งถือเป็นมาตรการในการจัดการความเสี่ยงที่จะขจัดสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงขึ้นได้ (อำนาจ ธีระวนิช, 2549: 384) ดังนั้น การจัดการความเสี่ยงหรือการบริหารความเสี่ยง (Risk Management) ที่เป็นระบบช่วยให้ผู้บริหารสามารถกำหนดกลยุทธ์ขององค์การให้เป็นไปในทิศทางเดียวกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ช่วยให้สามารถตัดสินใจได้ทันสถานการณ์ และช่วยลดความสูญเสียที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ (นุชนารถ รัตนสุวงศ์ชัย, 2558: 400)


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น