วันศุกร์ที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559

รูปแบบและแนวโน้มธุรกิจนำเที่ยว (Inbound)




รูปแบบและแนวโน้มธุรกิจของผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวขนาดย่อม
ของธุรกิจจัดนำเที่ยวเข้าในประเทศ (Inbound Tour Operator)

นิสิตภาควิชาศิลปาชีพ กลุ่มที่ 2  ปีการศึกษา 2558
 คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

บทคัดย่อ

บทความนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาถึงรูปแบบและแนวโน้มของผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวขนาดย่อมของธุรกิจจัดนำเที่ยวเข้าในประเทศ โดยคณะผู้จัดทำได้มีการสัมภาษณ์ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวขนาดย่อมจำนวน 3 แห่ง ได้แก่ บริษัท อะเบอร์ครอมบีแอนด์เค้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท อินโดไชน่า เซอร์วิสเซส เอเซีย จำกัด และ บริษัท อเล็กซ์ ฮอลิเดย์ จำกัด พบว่า ทั้ง 3 ธุรกิจมีการดำเนินธุรกิจในรูปแบบของบริษัทจำกัดทั้งหมด และเป็นบริษัทที่มีการประกอบธุรกิจในลักษณะของธุรกิจจัดนำเที่ยวเข้าในประเทศแตกต่างประเภทกันคือ ธุรกิจนำเที่ยวประเภทTour Operator ธุรกิจนำเที่ยวประเภท Land Operator และ ธุรกิจนำเที่ยวประเภท Travel Agent ตามลำดับ รวมทั้งมีการศึกษาจากตำราและเอกสารที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการเรียบเรียงบทความฉบับนี้
            ผลการศึกษาพบว่า ธุรกิจจัดนำเที่ยวเข้าในประเทศของธุรกิจขนาดย่อมในประเทศไทย จะต้องปรับกลยุทธ์ธุรกิจตามลักษณะของพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของนักท่องเที่ยว โดยสามารถปรับได้ทั้งในส่วนของผลิตภัณฑ์ กลุ่มตลาด หรือช่องทางการจัดจำหน่าย ถึงแม้ว่าในปัจจุบัน นักท่องเที่ยวจะหันมานิยมท่องเที่ยวด้วยตนเองมากขึ้น และการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสามารถทำได้ง่าย ทำให้บทบาทของธุรกิจนำเที่ยวลดลง ทว่า ในตลาดธุรกิจจัดนำเที่ยวเข้าในประเทศของประเทศไทย ยังเป็นธุรกิจที่สามารถเติบโตได้ เพราะจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวยังประเทศไทย และในภูมิภาคมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการปรับกลยุทธ์ธุรกิจให้เท่าทันความต้องการของนักท่องเที่ยวจะช่วยให้ธุรกิจขนาดย่อมสามารถประสบความสำเร็จได้เช่นเดียวกันกับธุรกิจขนาดใหญ่

คำสำคัญ: รูปแบบและแนวโน้มธุรกิจนำเที่ยว, ธุรกิจนำเที่ยว, Inbound

______________________________________________ 
  

รูปแบบ ประเภท และโครงสร้างองค์การ

พระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ.2535 มาตรา 3 นิยามคำว่า ธุรกิจนำเที่ยว หมายความว่า การประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการจัดหรือให้บริการ  หรืออำนวยความสะดวกเกี่ยวกับการเดินทาง  ที่พัก  อาหาร  ทัศนาจร  และหรือมัคคุเทศก์ให้แก่นักท่องเที่ยว
ในการประกอบธุรกิจจัดนำเที่ยว ผู้ประกอบการควรจะต้องมีความรูพื้นฐานในธุรกิจนําเที่ยว และติดตามความเคลื่อนไหวของธุรกิจนี้อยูตลอดเวลา มีความรู้ในเรื่องการท่องเที่ยว มีข้อมูลการเดินทาง สถานที่ท่องเที่ยวร้านอาหาร โรงแรม แหล่งซื้อขายของที่ระลึก ฯลฯ รวมทั้งผู้ประกอบการควรจะติดตามข่าวสารข้อมูลต่าง ๆ เช่น ข้อมูลส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ทางหน่วยงานรัฐบาล และภาคเอกชนได้จัดทําไว้ ต้องมีความรู ความเขาใจทางดานวัฒนธรรมและภาษา ต้องเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรม ภาษา ขนมธรรมเนียมประเพณีของแต่ละท้องถิ่น และผู้ประกอบการควรสามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพผู้ประกอบการจะต้องวางแผนการจัดนําเที่ยว โดยจัดเตรียมศึกษาเส้นทางที่จะไป ที่พัก ร้านอาหารที่จะแวะรับประทาน ร้านขายของที่ระลึก รวมถึงการจัดเตรียมพนักงานไว้คอยแนะนําและอํานวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว และต้องมีใจรักการใหบริการ เนื่องจากการนําเที่ยวนี้เป็นธุรกิจประเภทบริการ ผู้ประกอบการจึงควรมีใจรักในการให้บริการด้วยความซื่อสัตย์ จริงใจ เป็นกันเอง และสร้างสัมพันธภาพที่ดี เพื่อให้ลูกค้าเกิดความประทับใจ และแวะเวียนกลับมาใช้บริการอีก
ขั้นตอนแรกของการประกอบธุรกิจจัดนำเที่ยว จะต้องมีการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจจากกรม การค้า กระทรวงพาณิชย์ และขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจนําเที่ยว จากกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
รูปแบบของธุรกิจจัดนำเที่ยวเข้าในประเทศนั้น สามารถจดทะเบียนธุรกิจแบบเจ้าของคนเดียว ห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทจำกัดก็ได้ แต่ธุรกิจรูปแบบเจ้าของคนเดียวไม่เป็นที่นิยม เพราะเป็นกิจการที่มีบุคคลคนเดียวเป็นเจ้าของหรือลงทุนคนเดียว ควบคุมการดำเนินเองทั้งหมด ถึงแม้จะมีความคล่องตัวสูงในการตัดสินใจดำเนินงาน การดำเนินงานไม่สลับซับซ้อน แต่กิจการมีขนาดเล็กกว่าธุรกิจประเภทอื่น เมื่อกิจการประสบผลสำเร็จมีผลกำไรก็จะได้รับผลประโยชน์เพียงคนเดียว ในขณะเดียวกันก็ยอมรับการเสี่ยงภัยจากการขาดทุนเพียงคนเดียวเช่นกัน จึงได้รับความน่าเชื่อถือน้อยกว่า
ห้างหุ้นส่วน (Partnership) เป็นรูปแบบของการดำเนินธุรกิจ ที่มีบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปมาร่วมกันจัดตั้ง กิจการ โดยเป็นเจ้าของกิจการร่วมกัน มีสัญญาเข้าเป็นหุ้นส่วนกัน และแบ่งผลกำไรกัน ความน่าเชื่อถือจะมากกว่า กิจการเจ้าของคนเดียวหรือร้านค้าธรรมดา ห้างหุ้นส่วน มี 3 ประเภทคือ
1)   ห้างหุ้นส่วนสามัญ เป็นธุรกิจที่ไม่ต้องจดทะเบียนขึ้นเป็นนิติบุคคลดังนั้นจึงต้องเสียภาษีแบบบุคคลธรรมดา ในกรณีที่เกิดหนี้สิน หุ้นส่วนทุกคนต้องรับผิดชอบหนี้สินร่วมกันทั้งหมดโดยอาจให้หุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งชำระหนี้ทั้งหมดก่อนก็ได้
2)   ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนประเภทนี้เกิดจากการนำห้างหุ้นส่วนสามัญไปจดทะเบียนกับกรมพัฒนา ธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ จึงมีฐานะเป็นนิติบุคคลและต้องเสียภาษีแบบนิติบุคคล มีผู้ตรวจสอบบัญชีจึงได้รับความน่าเชื่อถือจากคนภายนอกมากกว่า
3)   ห้างหุ้นส่วนจำกัด ต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลจึงต้องเสียภาษีแบบนิติบุคคล หุ้นส่วนแต่ละคนรับผิดชอบหนี้สินไม่เกินจำนวนเงินที่ตัวเองลงหุ้น มีความเชื่อถือเช่นเดียวกับห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลเพราะได้รับการตรวจสอบบัญชีจากภายนอก
บริษัทจำกัด (Limited Company) เป็นรูปแบบของการดำเนินธุรกิจที่จัดตั้งขึ้นด้วยการแบ่งเงินทุนเป็นหุ้นมี มูลค่าเท่า ๆ กัน ผู้ถือหุ้นซึ่งก็คือเจ้าของกิจการต้องรับผิดจำกัดเพียงไม่เกินจำนวนเงินที่ ตนเองจ่ายเงินลงทุน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ "บริษัทจำกัด" ต้องขึ้นจดทะเบียนและมีสถานะเป็นนิติบุคคล จึงมีความน่าเชื่อถือมากกว่าทั้ง 2 แบบ บริษัท จะต้องมีผู้เริ่มก่อการและผู้ถือหุ้นมากกว่าหรือเท่ากับ 3 คนแบ่งทุนออกเป็นหุ้น โดยที่หุ้นแต่ละหุ้นมีมูลค่าเท่ากัน และหุ้นแต่ละหุ้นจะต้องมีมูลค่าไม่น้อยกว่า 5 บาท ผู้ถือหุ้นแต่ละคนรับผิดชอบหนี้สินเฉพาะในส่วนที่ตนเองลงทุนและรับผิดชอบไม่เกินในส่วนที่ยังชำระค่าหุ้นไม่ครบ จ่ายเป็นเงินปันผลตามจำนวนหุ้นที่ผู้ถือครอง เสียภาษีในอัตราร้อยละ 30 ของกำไรสุทธิ กรณีเป็น SME เสียภาษีตามอัตราก้าวหน้าร้อยละ 15-30
ห้างหุ้นส่วนจำกัดและบริษัทจำกัด จะมีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันไป ดังนี้ (สำนักงานบัญชี Charter: 2556)
ข้อดีของการจดทะเบียนรูปแบบห้างหุ้นส่วน
·     สามารถระดมทุน และความรู้ของหุ้นส่วนแต่ละคนมาพัฒนาธุรกิจให้เติบโตได้อย่างมีศักยภาพยิ่งขึ้น
·     เสียภาษีน้อยกว่า หากห้างหุ้นส่วนได้รับการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแล้ว สามารถเสียภาษีในอัตราสูงสุดเพียง 30% จาก 37% เหมือนกับบริษัทจำกัด
·     จำกัดรับผิดชอบหนี้สิน หากเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด หุ้นส่วนแต่ละคนถูกจำกัดความรับผิดชอบหนี้สินด้วยส่วนที่ตนรับลงทุน ห้างประเภทนี้จึงเหมาะกับกิจการที่เสี่ยงต่อการขาดทุน

ข้อเสียของการจดทะเบียนรูปแบบห้างหุ้นส่วน
·     ข้อขัดแย้ง อาจเกิดข้อขัดแย้งในหมู่ผู้ร่วมหุ้น
·     ข้อจำกัด มีข้อจำกัดในการโอนหุ้น
·     อุปสรรคในการถอนเงินทุน ถอนเงินทุนออกได้ยาก
          ข้อดีของการจดทะเบียนรูปแบบบริษัท
·     จำกัดความรับผิดชอบ ภาระหนี้สินที่เกิดขึ้นกับบริษัทจะถูกจำกัดโดยจำนวนหุ้นที่คุณถือและไม่เกินในส่วนที่ยังชำระค่าหุ้นไม่ครบ
·     สามารถระดมทุนได้ เนื่องจากบริษัทถูกก่อขึ้นโดยจำนวนคนตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป จึงง่ายต่อการขยายกิจการ
·     ภาพลักษณ์ที่ดีกว่า เนื่องจากมีกฏหมายเป็นตัวควบคุมและถูกวางกรอบขณะดำเนินธุรกิจอยู่ตลอดเวลา จึงทำให้คนภายนอกไว้วางใจ "บริษัทจำกัด" มากกว่าธุรกิจประเภทอื่น
·     เสียภาษีน้อยกว่า หากจัดตั้งธุรกิจเป็นบริษัทซึ่งถือว่าเป็นนิติบุคคลจะเสียภาษีในอัตราสูงสุดเพียง 30% เท่านั้น ในขณะที่หากเป็นธุรกิจแบบบุคคลธรรมดาเช่น ร้านค้า จะมีโอกาสถูกเรียกเก็บภาษีสูงสุดถึง 37%
ข้อเสียของการจดทะเบียนรูปแบบบริษัท
·     ผู้ประกอบการต้องมีความรู้เรื่องกฎหมาย  บริษัทจำกัดต้องดำเนินกิจการภายใต้กรอบของกฎหมาย ดังนั้นผู้ประกอบการอาจเกิดความสับสนในการดำเนินกิจการหากไม่มีความรู้ในเรื่องกฎหมายธุรกิจ
·     ไม่ยุติธรรม  บางครั้งผู้ที่ทำงานมากที่สุดในธุรกิจนั้น อาจไม่ใช่ผู้ที่ถือหุ้นเยอะที่สุด แต่ต้องแบ่งรายได้ทุกอย่างตามสัดส่วนของหุ้นที่ตนเองเป็นเจ้าของจึงอาจเกิดความไม่ยุติธรรมขึ้นในธุรกิจนั้นๆ
·     ต้องจัดทำบัญชีและเสียภาษี  เมื่อจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแล้ว บริษัทจำกัดต้องส่งงบทางการเงินตามกฎหมายไปยังสำนักทะเบียนพาณิชย์เพื่อเปิด เผยต่อสาธารณชน ดังนั้นจึงต้องเสียเงินจ้างบริษัทบัญชีมาตรวจสอบ นอกจากนี้บริษัทจำกัดยังต้องเสียภาษีอากรตามกฎหมายอีกด้วย
ประเภทของธุรกิจนำเที่ยว   แบ่งออกเป็น  3  ประเภท คือ
1)   Travel  Agent บุคคลหรือบริษัทที่มีความสามารถจัดการนำเที่ยว  การขนส่ง  ที่พัก  อาหาร  การรับ-ส่งทั้งขาไปและขากลับ  การนำสถานที่และงานอื่น ๆ ของการเดินทางซึ่งเป็นการบริการให้แก่สาธารณชน  เช่น  บริษัท นำเที่ยว จำกัด   มีความชำนาญเบ็ดเสร็จทุกอย่าง สามารถดำเนินการเองได้
2)   Tour  Operator บริษัทมีความชำนาญในการจัดและดำเนินการเกี่ยวกับการตลาด  ทางด้านการจัดการเดินทางไปพักผ่อน  แบบ  Inclusive  Tour  โดยเก็บเงินล่วงหน้าแล้วมอบให้  Travel  Agent  เป็นผู้ขาย  แต่บางครั้งก็ลงมือขายแก่นักท่องเที่ยวโดยตรง  เช่น   บริษัทหรือกลุ่มคนในพื้นที่ที่มีอุปกรณ์เกี่ยวกับการดำน้ำ  และเรือพร้อมในจังหวัดพังงา  นำเที่ยวดำน้ำดูปะการังที่หมู่เกาะสิมิลัน หมู่เกาะสุรินทร์  ก็ติดต่อกับบริษัทนำเที่ยวจำกัด  เป็นผู้ขายบัตรเพราะมีลูกค้าที่เป็นนักท่องเที่ยวแพร่หลายอยู่แล้ว  ส่วนตนก็เป็นผู้จัดรายการรับทัวร์ชุดนี้ต่ออยู่ที่พังงา
3)   Wholesaler บริษัทมีความชำนาญงานในงานเดินทาง  คิดและเสนอโปรแกรมที่จัดไว้แบบเหมาหรือจัดขึ้นตามแต่จะรับคำสั่งมาจากลูกค้าแล้วมอบให้ Travel  Agent   รับไปขายต่อ  Wholesaler  ต่างกับ  Tour  Operator  คือ Wholesaler  มักไม่เสนอรายการเดินทางต่อบริษัทนำเที่ยวบ่อย     แต่ Tour  Operator  จะเสนอขายให้แก่  Retailer  ด้วย  เช่น  เป็นบริษัทหรือกลุ่มคนที่ชอบการผจญภัยชุดบุกเบิก  ไปเที่ยวน้ำตกทีลอแล(น้ำตกที่เลยน้ำตกทีลอซูเข้าไปในเขตพม่ามาแล้ว มีคนที่เคยไปด้วยแนะว่าควรจัดทัวร์แบบนี้  (ลุย  สมบุกสมบัน)  จึงคิดรายการขึ้น  แล้วเสนอต่อบริษัทนำเที่ยวจำกัด ขาย   ซึ่งจะจัดไม่บ่อย  และถ้าคนไปน้ำตกนี้กันมาก  ทัวร์ที่ไปน้ำตกทีลอแลลักษณะนี้ก็จะงดไป  แล้วไปบุกเบิกที่แห่งใหม่ต่อไป  มักเป็นบริษัทในท้องถิ่น 
นอกจากนี้ ยังมีการจำแนกประเภทของธุรกิจการท่องเที่ยวตามลักษณะของการจัดบริการนำเที่ยว ได้แก่
1)   ธุรกิจนำเที่ยวภายในประเทศ (Domestic tour operator) หมายถึง  การจัดนำนักท่องเที่ยวที่มีภูมิลำเนาในประเทศ  เดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวภายในประเทศนั้นๆ เช่น การจัดนำนักท่องเที่ยวไทยในเมืองไทย
2)   ธุรกิจจัดนำเที่ยวนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากต่างประเทศไปยังแหล่งท่องเที่ยวในประเทศ (Inbound  tour operator) เช่น ชาวอังกฤษหรือชาวเยอรมันเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทย
3)   ธุรกิจจัดนำเที่ยวภายในประเทศเดินทางไปแหล่งท่องเที่ยวต่างประเทศ (Outbound  tour operator) เช่น คนไทยเดินทางไปเที่ยวฮ่องกงหรือสหรัฐอเมริกา 

โครงสร้างการบริหารงานของธุรกิจจัดนำเที่ยวเข้าในประเทศ จะมีการบริหารและการจัดการของแต่ละบริษัทมีความแตกต่างกันออกไป  แผนกต่างๆ ในแต่ละบริษัทอาจจะเรียกชื่อไม่เหมือนกัน  ทั้งๆ  ที่ทำหน้าที่คล้ายคลึงกัน  การบริหารงานและขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละแผนกก็จะขึ้นอยู่กับบริษัทว่า  จะเห็นความสำคัญและต้องการเน้นที่แผนกใด ซึ่งสามารถแบ่งรูปแบบโครงสร้างองค์กรของธุรกิจจัดนำเที่ยวเข้าในประเทศออกเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่ โครงสร้างแบบแนวตั้ง (Vertical Structure) โครงสร้างแบบแนวนอน  (Horizontal Structure) และ โครงสร้างแบบผสม (Mixed Structure)

ในการค้นคว้าอิสระในครั้งนี้ ได้มีการสัมภาษณ์ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวขนาดย่อมจำนวน 3 แห่ง ได้แก่ บริษัท อะเบอร์ครอมบีแอนด์เค้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท อินโดไชน่า เซอร์วิสเซส เอเซีย จำกัด และ บริษัท อเล็กซ์ ฮอลิเดย์ จำกัด พบว่า ทั้ง 3 ธุรกิจมีการดำเนินธุรกิจในรูปแบบของบริษัทจำกัดทั้งหมด และเป็นบริษัทที่มีการประกอบธุรกิจในลักษณะของธุรกิจจัดนำเที่ยวเข้าในประเทศ
บริษัท อะเบอร์ครอมบีแอนด์เค้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกอบธุรกิจนำเที่ยวประเภท Tour Operator มีการผลิตรายการนำเที่ยวเพื่อจำหน่ายเอง บริษัท อินโดไชน่า เซอร์วิสเซส เอเซีย จำกัด ประกอบธุรกิจนำเที่ยวประเภท Land Operator คือ บริษัทที่ดำเนินการจัดหาผลิตภัณฑ์และบริการด้านการท่องเที่ยวในประเทศนั้นๆให้กับ Tour Operator  ในต่างประเทศ และบริษัท อเล็กซ์ ฮอลิเดย์ จำกัด ประกอบธุรกิจนำเที่ยวประเภท Travel Agent คือ จำหน่ายรายการนำเที่ยวที่ซื้อมาจาก Tour Retailor หรือ Tour Wholesaler ไม่ได้ผลิตรายการนำเที่ยวเอง มีลักษณะเป็นกึ่ง OTA (Online Travel Agent) คือเน้นการจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ แต่ก็มีการจำหน่ายผ่านทางหน้าร้านด้วย

ผลิตภัณฑ์ และตลาดเป้าหมาย
องค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (UNWTO) พยากรณ์ว่า เมื่อถึงปี 2020 จะมีนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศจำนวน 1,600 ล้านคน ภูมิภาคที่มีแนวโน้มเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม คือ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเอเชียแปซิฟิก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
 ตลาดที่พัฒนาแล้วมีการชะลอตัวด้านการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ตลาดเกิดใหม่มีอัตราการเติบโตสูงกว่าหลายเท่า ตลาดเอเชีย และแอฟริกาใต้ มีอัตราการเติบโตสูงที่สุด แต่ยุโรปยังคงเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุด ถึงแม้ว่าอัตราการเติบโตจะไม่สูงเท่ากับภูมิภาคอื่นๆ ก็ตาม
    การเติบโตของกลุ่มเศรษฐกิจใหม่ (Emerging Market) การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการตลาด กลุ่มประเทศ BRIC (บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน) มีรายได้เพิ่มขึ้น และมีศักยภาพในการส่งออกนักท่องเที่ยวในอนาคต
    ปี 2020 นักท่องเที่ยวนิยมเดินทางไปนอกภูมิภาคเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 18 เป็นร้อยละ 24 แนวโน้มนักท่องเที่ยวเดินทางบ่อยขึ้น มีจำนวนทริปเกิดขึ้น 21 ครั้ง จากประชากรโลก 100 คน ในปี 2020 ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะมีนักท่องเที่ยวมากถึง 416 ล้านคน หรือ 1 ใน 4 ของนักท่องเที่ยวทั่วโลก
    ในปี 2020 หากประเทศไทยมีอัตราการเติบโตเท่าการคาดการณ์การเติบโตของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ร้อยละ 6.5 ประเทศไทยจะมีจำนวนนักท่องเที่ยว 41.5 ล้านคน แต่หากประเทศไทยยังคงเติบโตสูงเหมือนในอดีตที่ผ่านมาในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 15 และปรับเพิ่มความสามารถในการรองรับในด้านต่างๆ ได้ ในปี 2020 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยว 71 ล้านคน เท่ากับจำนวนประชากรไทยในปี 2020
    การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรโลก ทำให้รูปแบบการท่องเที่ยวเปลี่ยนแปลงไป เช่น การท่องเที่ยวสำหรับกลุ่มนักธุรกิจ และกลุ่มผู้สูงวัยจะมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น
    บริษัท อินโดไชน่า เซอร์วิสเซส เอเซีย จำกัด เป็นบริษัทที่มีบริษัทสาขาใหญ่อยู่ที่ประเทศเยอรมัน ดังนั้น กลุ่มลูกค้าหลักของบริษัทจะเป็นกลุ่มลูกค้าเยอรมันและยุโรปเป็นส่วนใหญ่ รองลงมาคือ กลุ่มลูกค้าอเมริกัน บริษัทได้เรียนรู้ถึงกลุ่มลูกค้ากลุ่มต่างๆ รวมถึงสถานการณ์การท่องเที่ยวโลกที่เปลี่ยนไป และสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว ทำให้บริษัทวางแผนการบริหารความเสี่ยง โดยการขยายกลุ่มเป้าหมายให้กว้างขึ้น ภูมิภาคที่มีความน่าสนใจในช่วงนั้นคือ ภูมิภาคเอเชีย และ โซนโอเชียเนีย  ทางบริษัทก็ได้ขยายกลุ่มลูกค้าออกไปในภูมิภาคดังกล่าว แต่กลุ่มเป้าหมายหลักก็ยังคงเป็นกลุ่มยุโรปและอเมริกัน และกลุ่มลูกค้าหลักของบริษัทจะเป็นกลุ่มลูกค้าผู้สูงอายุที่มีกำลังซื้อ แต่บริษัทได้พยายามปรับเปลี่ยนรายการนำเที่ยวให้เข้ากับทุกเพศ ทุกวัย เพื่อตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวที่กว้างขึ้น
พฤติกรรมผู้บริโภคปรับเปลี่ยนไปตามสภาพเศรษฐกิจ ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ส่งผลให้นักท่องเที่ยวใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวอย่างระมัดระวัง นักท่องเที่ยวนิยมเดินทางท่องเที่ยวระยะใกล้ โดยอาจเลือกเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศหรือภายในภูมิภาคเดียวกันมากขึ้น บริษัท อินโดไชน่า เซอร์วิสเซส เอเซีย จำกัด ก็ได้ทำการขยายกลุ่มตลาดเป้าหมายในภูมิภาคเอเชียให้กว้างขึ้น โดยมีสำนักงานของบริษัทอยู่ที่เมืองสำคัญ อีกทั้งบริษัทพยายามที่จะเจาะกลุ่มลูกค้า Hi-End ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความอ่อนไหวทางด้านราคาน้อย โดยบริษัทก็ได้ทำการสร้างคุณค่า (Value Added) ให้กับผลิตภัณฑ์ของบริษัท เพื่อที่จะได้ตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้า และสร้างจุดแข็งในการแข่งขันกับคู่แข่งที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในปัจจุบัน และนักท่องเที่ยวมีแนวโน้มสนใจการท่องเที่ยวตามความสนใจพิเศษ (Special Interest Tourism) เช่น Street Food Tourism ทางบริษัท บริษัท อินโดไชน่า เซอร์วิสเซส เอเซีย จำกัด เองก็จะต้องค้นคว้าวิจัยถึงกระแสการท่องเที่ยวในปัจจุบัน และสร้างรายการนำเที่ยวที่มีความน่าสนใจ และตอบสนองต่อการแสและพฤติกรรมของนักท่องเที่ยว และสร้างจุดเด่น จุดสนใจให้กับผลิตภัณฑ์ทางการท่องเที่ยวของบริษัท เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันกับคู่แข่งที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
บริษัท อะเบอร์ครอมบีแอนด์เค้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด มีกลุ่มเป้าหมายเฉพาะคือ กลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพหรือนักท่องเที่ยวที่มีรายได้สูง เนื่องจากนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มีความอ่อนไหวด้านเศรษฐกิจน้อย ต่อให้มีปัญหาเศรษฐกิจ นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ยังคงมีรายได้สูงและมีกำลังซื้อสูง ซึ่งการกำหนดกลุ่มเป้าหมายแบบนี้ทำให้บริษัท อะเบอร์ครอมบีแอนด์เค้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้เปรียบและเป็นปัจจัยสนับสนุนให้บริษัทนี้สามารถสร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มเติบโตขึ้นในอนาคต
บริษัท อเล็กซ์ ฮอลิเดย์ จำกัด เป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจจัดนำเที่ยวเข้าในประเทศ ประเภท Travel Agent ไม่ได้เป็นผู้ผลิตรายการนำเที่ยว ดังนั้น จึงเลือกกลุ่มตลาดที่เป็นตลาดขนาดใหญ่ (Mass Market) และโดยเฉพาะกลุ่มตลาดออนไลน์ ซึ่งมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยใช้กลยุทธ์การสร้างความแตกต่างในตลาดขนาดใหญ่ มีผลิตภัณฑ์ที่สามารถจองและชำระเงินออนไลน์ได้ในทันที ตอบสนองต่อวิถีชีวิตของนักท่องเที่ยวในปัจจุบัน ทั้งนี้ข้อดีของการที่เลือกกลุ่มตลาดขนาดใหญ่คือ ช่วยลดช่องว่างระหว่างฤดูกาลท่องเที่ยว

สิ่งแวดล้อมธุรกิจในภาพรวม
สิ่งแวดล้อมภายในสำหรับธุรกิจนำเที่ยวมีองค์ประกอบดังนี้ (นุชนารถ รัตนสุวงศ์ชัย, 2558:71-83)
1)   ความสามารถในการจัดการของผู้บริหาร เช่น เจ้าของกิจการคือผู้ที่ลงทุน กำหนดวิสัยทัศน์และเป็นผู้ตัดสินใจ ผู้ถือหุ้นคือผู้มีอำนาจในการเลือกคณะกรรมการ ส่วนคณะกรรมการบริหารมีหน้าที่ในการกำหนดวิสัยทัศน์ พันธะกิจ วัตถุประสงค์ กลยุทธ์ขององค์การ และนโยบายด้านต่างๆ รวมทั้งวางแผนตัดสินใจ บริหารและควบคุมงานทุกด้านขององค์การ
2)   ภาวะการเงิน (Financial Status) องค์การมีความคล่องตัวทางการเงินจะส่งเสริมให้สามารถจัดซื้อปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพ การตลาดในเชิงรุก ปรับเปลี่ยนหรือดำเนินกลยุทธ์ขององค์การได้ทันต่อสถานการณ์
3)   บุคลากรขององค์การ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคลากรที่ต้องติดต่อพบปะกับลูกค้าโดยตรง
4)   วัฒนธรรมองค์การ เป็นเสมือน บุคลิกภาพหรือ จิตวิญญาณขององค์การ โดยวัฒนธรรมองค์การสามารถกำหนดรูปแบบพฤติกรรมขององค์การซึ่งประกอบด้วยทัศนคติการปฏิบัติงาน และความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล
5)   การวิจัย (Research) คือ การรวบรวม ศึกษา และวิเคราะห์สถานการณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องหรือมีอิทธิพลต่อการดำเนินธุรกิจและการตลาดขององค์การ
สิ่งแวดล้อมภายนอก แบ่งออกเป็น 2 ระดับ ดังนี้
·        สิ่งแวดล้อมระดับมหภาค ได้แก่
1) ประชากรศาสตร์ เป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดจำนวนการซื้อ ค่านิยม ความต้องการ พฤติกรรมการซื้อ พฤติกรรมการบริโภคและความสามารถในการซื้อของตลาด
2) เศรษฐกิจ กำหนดอำนาจการซื้อของตลาด ซึ่งขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของรายได้ที่แท้จริง ภาวะการออม ภาวะหนี้สิน และการเปลี่ยนแปลงรูปแบบค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคในแต่ละสังคม
3) การเมือง ซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากต่อการตัดสินใจซื้อของตลาด
4) เทคโนโลยี โดยผู้บริหารจึงต้องพัฒนาเทคโนโลยีขององค์การให้สามารถเข้าถึงลูกค้าหรือตลาดเป้าหมาย
5) กฎหมาย โดยภาครัฐออกกฎหมายหรือระเบียบที่เอื้ออำนวยความสะดวกให้องค์การภาคเอกชนในการดำเนินธุรกิจ สร้างโอกาสทางธุรกิจ แต่ในทางตรงข้ามกฎหมายก็เป็นสิ่งที่ควบคุมการดำเนินงานขององค์การภาคเอกชนอย่างเข้มงวด ก็จะกลายเป็นอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ
6) สภาพแวดล้อมทางกายภาพ เช่น มลภาวะ ภัยพิบัติ ความเสื่อมโทรมต่างๆ ที่ส่งผลกระทบทางอ้อมต่อการดำเนินธุรกิจ
7) สังคมและวัฒนธรรมของตลาดเป้าหมาย ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทางองค์การต้องมีการวิเคราะห์ทั้ง ทัศนคติ ค่านิยม ความต้องการ พฤติกรรมการซื้อและพฤติกรรมการบริโภคของนักท่องเที่ยว เพื่อสามารถตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวให้ได้มากที่สุด
·        ระดับจุลภาคหรืออุตสาหกรรม ได้แก่
1) ตัวกลางหรือตัวแทน ซึ่งเปรียบเสมือนภาพลักษณ์ขององค์การ ในการเข้าถึงตลาดเป้าหมาย ดังนั้นองค์การจำเป็นต้องมีการคัดสรรตัวกลางให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด
2) คู่แข่งขัน ซึ่งมีทั้งคู่แข่งโดยตรง คู่แข่งทางอ้อมคู่แข่งเดิม และคู่แข่งใหม่ที่เข้ามา ซึ่งในกรณีธุรกิจการนำเที่ยวภายในประเทศจำเป็นต้องศึกษาและวิเคราะห์ประเทศคู่แข่งกับประเทศไทย
3) ลูกค้าหรือตลาดเป้าหมาย ทางองค์การจำเป็นต้องทำความเข้าใจความจำเป็น ความต้องการ อำนาจในการซื้อผลิตภัณฑ์ และอำนาจในการต่อรองของลูกค้า
4) ผู้จัดปัจจัยการผลิต นอกจากต้องทำความเข้าใจในตัวผู้บริโภค ผู้จัดปัจจัยการผลิตก็มีความสำคัญ เนื่องจากอำนาจในการต่อรองของผู้จัดส่งปัจจัยการผลิต ก็ถือว่ามีส่วนในการลดต้นทุนผลิตภัณฑ์ขององค์การอีกด้วย
5) ผลิตภัณฑ์ทดแทน ในกรณีที่ทางองค์การไม่สามารถดำเนินการหรือจัดหาผลิตภัณฑ์ตามที่ลูกค้าต้องการได้ หรือให้บริการได้ไม่ทันความต้องการของลูกค้า ซึ่งอาจจะทำให้ลูกค้าตัดสินใจเลือกใช้ผลิตภัณฑ์และบริการอื่นๆ ที่สามารถทดแทนผลิตภัณฑ์ขององค์การได้ ดังนั้นองค์การจึงจำเป็นต้องวิเคราะห์และหาทางป้องกันอีกทางหนึ่งด้วย
                จากการสัมภาษณ์ธุรกิจนำเที่ยวภายในประเทศ ได้แก่ บริษัท อะเบอร์ครอมบีแอนด์เค้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท อินโดไชน่า เซอร์วิสเซส เอเซีย จำกัด และ บริษัท อเล็กซ์ ฮอลิเดย์ จำกัด ทั้ง 3 องค์การธุรกิจนั้นต่างให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์สิ่งแวดล้อมธุรกิจทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก ซึ่งทางบริษัท อินโดไชน่า เซอร์วิสเซส เอเซีย ได้มีการวิเคราะห์สิ่งแวดล้อมทางธุรกิจดังนี้ ด้านสิ่งแวดล้อมภายใน ทางองค์การมีวัฒนธรรมองค์การที่พนักงานสามารถติดต่อสื่อสารกับผู้บริหารได้โดยง่าย เนื่องจากโครงสร้างองค์การแบบแนวนอน โดยทางองค์การต้องการความรวดเร็วในการทำงาน และเป็นการกระตุ้นแรงจูงใจในการทำงานของพนักงานด้วยอีกทางหนึ่ง ซึ่งจะทำให้บรรยากาศในการทำงานค่อนข้างยืดหยุ่น
ด้านบุคลากรเนื่องจากทางบริษัทมีนโยบายที่ส่งเสริมให้พนักงานมีทักษะในการทำงานที่หลากหลาย จึงมักมีการส่งพนักงานไปตามสาขาต่างๆ ในต่างประเทศเพื่อเพิ่มทักษะในการทำงานให้มากยิ่งไป ทางด้านสภาพทางการเงินขององค์การ ค่อนข้างมีความคล่องตัวทางการเงิน ทำให้สามารถจัดซื้อปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพได้ อีกทั้งด้านการบริหารงานทางองค์การ เป็นรูปแบบ One stop service เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าได้อย่างเต็มที่ และมีแผนกที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี เป็นของตนเองซึ่งทำให้องค์การสามารถอัพเดทข้อมูลได้อย่างถูกต้องและรวดเร็วทันท่วงที
ในส่วนสิ่งแวดล้อมภายนอก ด้านคู่แข่งมีจำนวนมากขึ้น  เช่น การที่ Tour Operator ในต่างประเทศพยายามติดต่อ Supplier ด้วยตนเองเพื่อทำให้ต้นทุนลดลง หรือ Supplier พยายามติดต่อ Tour Operator เองเพื่อเพิ่มยอดขายและกำไรมากขึ้น โดยไม่ผ่าน Destination management company ดังนั้นทางองค์การจึงมีกลยุทธ์เพื่อป้องกันและแก้ไขโดยมีการเพิ่มคุณค่าของผลิตภัณฑ์และสร้างความแตกต่างเพื่อจูงใจและสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้
            บริษัท อะเบอร์ครอมบีแอนด์เค้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นบริษัทนำเที่ยวภายในประเทศขนาดใหญ่ โดยมีสาขาย่อยอยู่ในหลายประเทศ ซึ่งตลาดกลุ่มเป้าหมายหลักคือ นักท่องเที่ยวที่มีกำลังในการใช้จ่ายสูง ซึ่งทางองค์การได้มีการวิเคราะห์สิ่งแวดล้อมทางธุรกิจดังนี้ ด้านสิ่งแวดล้อมภายใน ผู้บริหารมีวิสัยทัศน์และทัศนคติที่ก้าวไกล อีกทั้งยังมีวัฒนธรรมองค์กรที่พนักงานสามารถแสดงความคิดเห็นและสื่อสารกับผู้บริหารได้โดยง่าย เช่นเดียวกับ บริษัท อะเบอร์ครอมบีแอนด์เค้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด ในด้านบุลากร มีการส่งเสริมให้พนักงานมีทักษะการทำงานที่หลากหลาย เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากที่สุด เนื่องจากองค์การมีขนาดใหญ่และกลุ่มเป้าหมายมีกำลังซื้อสูงจึงทำให้องค์กรมีสภาพทางการเงินที่อยู่ในระดับดีมาก อีกทั้งทางองค์กรยังมีแผนกที่ทำการค้นคว้าเกี่ยวการงานวิจัยโดยตรง เพื่อศึกษาความจำเป็นและความต้องการของนักท่องเที่ยว เพื่อสามารถนำมาเป็นส่วนช่วยในการพัฒนารูปแบบรายการนำเที่ยวให้สามารถตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวได้ ในส่วนสิ่งแวดล้อมภายนอก ในด้านสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศซึ่งทางองค์การไม่สามารถควบคุมได้ ทางองค์การได้มีการติดตาม วางแผนจัดการเพื่อรับมือและป้องกัน โดยมีการส่งข้อมูลเพื่อรายงานสถานการณ์ให้กับนักท่องเที่ยวอย่างสม่ำเสมอ อีกทั้งยังมีการเสนอรายการนำเที่ยวเพื่อเดินทางไปในพื้นที่อื่นๆ ที่มีความน่าสนใจ ทดแทนการเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวที่อยู่บริเวณสถานการณ์การเมือง เพื่อทำให้ลูกค้าเกิดความรู้สึกมั่นใจและตัดสินใจเดินทางมาท่องเที่ยว ในส่วนด้านเศรษฐกิจ ถึงแม้สถานการณ์ของเศรษฐกิจในประเทศกลุ่มเป้าหมายยุโรปจะไม่ค่อยดีมาก แต่ก็ไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจมาก เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่มีกำลังใช้จ่ายค่อนข้างสูง ดังนั้นในด้านเศรษฐกิจจึงไม่ค่อยมีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของ บริษัท อะเบอร์ครอมบีแอนด์เค้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด ในด้านการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Asean Economic Community) ที่จะถึงนี้ทางองค์การมองว่าเป็นโอกาสในการดำเนินธุรกิจ เช่น  Single VISA ที่นักท่องเที่ยวจะสามารถเดินทางไปยังประเทศต่างๆ ที่อยู่ในอาเซียนโดยใช้วีซ่าเดียว โดยจุดแข็งของประเทศไทยอีกอย่างหนึ่งคือ เป็นจุดศูนย์กลางในการเดินทางเชื่อมต่อไปยังประเทศต่างๆในอาเซียน ซึ่งเป็นโอกาสขององค์การในการเพิ่มผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวและขยายฐานลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น ในด้านคู่แข่ง มีการแข่งขันสูงในด้านการจัดหาปัจจัยการผลิตเพื่อให้ตรงกับความต้องการของนักท่องเที่ยวทั้งตัวองค์กรเอง และองค์กรของคู่แข่ง
                ในส่วนของบริษัท อเล็กซ์ ฮอลิเดย์ จำกัด เป็นบริษัทนำเที่ยวภายในประเทศขนาดเล็ก ซึ่งทางองค์การได้มีการวิเคราะห์สิ่งแวดล้อมทางธุรกิจดังนี้ ด้านสิ่งแวดล้อมภายใน ผู้บริหารมีวิสัยทัศน์และทัศนคติที่ก้าวไกล อีกทั้งยังมีการวางแผนในการบริหารงานในระยะยาว เช่น การลงทุนในด้านการทำเว็บไซต์ ซึ่งโดยสมัยก่อนเมื่อ 10 ปีที่แล้ว คนส่วนใหญ่จะมองว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่สิ้นเปลือง มองว่าจะทำไปเพื่ออะไร แต่ทางผู้บริหารก็เลือกที่จะลงทุนทำขึ้นมา ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยเว็บไซต์ถือว่าเป็นช่องทางหลักและทำให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงได้ดีที่สุด อีกทั้งยังเป็นช่องทางแบบ One stop service โดยมีรูปแบบผลิตภัณฑ์และบริการให้เลือกหลากหลาย และลูกค้าสามารถจองแล้วชำระเงินได้ทันทีผ่านทางเว็บไซต์ และทางผู้บริหารมีการสร้างความเชื่อมั่นและความน่าเชื่อถือให้กับองค์กรโดยการเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว แต่เนื่องจากองค์กรมีขนาดเล็กด้านภาวะทางการเงินจึงมีอยู่อย่างจำกัด ในด้านบุคลากร เนื่องจากองค์กรมีขนาดเล็ก บุคลากรจึงมีจำนวนน้อย ซึ่งพนักงานสามารถสามารถติดต่อและสื่อสารกับผู้บริหารได้อย่างง่ายดาย อีกทั้งทางผู้บริหารยังมีนโยบายในการสนับสนุนให้พนักงานมีทักษะการทำงานที่หลากหลายและสามารถตัดสินใจด้วยตนเองได้ ซึ่งทำให้จำนวนไม่มีปัญหากับการดำเนินงานเนื่องจากบุคลากรมีทักษะในการทำงานที่มีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังมีการจ้าง Outsource ให้เข้ามาทำงานในส่วนต่างๆแทนการจ้างพนักงาน เพื่อลดต้นทุนในด้านบุคลากร ในส่วนสิ่งแวดล้อมภายนอก ทั้งด้านปัญหาด้านเศรษฐกิจและการเมือง ซึ่งส่งผลกระทบทางตรงกับการดำเนินธุรกิจขององค์กร ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่สามารถควบคุมได้ โดยทางองค์กรก็จะมีการคืนเงินให้กับลูกค้า ซึ่งบริษัทก็ได้รับผลกระทบโดยตรงและเป็นสิ่งที่ช่วยไม่ได้ อย่างไรก็ตามทางผู้บริหารก็มีการคาดการณ์ว่าสถานการณ์น่าจะดีขึ้นในช่วงเดือนถัดไป โดยคาดการณ์จากผลกระทบที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ด้านพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงไป ทางองค์กรมีการสร้างผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยว และมีปรับเปลี่ยนรูปแบบของเว็บไซต์ให้มีความทันสมัย เพิ่มลูกเล่น มีการอัพเดตข่าวสาร ด้านการท่องเที่ยวใหม่ๆ เพื่อให้เว็บไซต์มีความสดใหม่อยู่เสมอ และเพื่อสร้างความแตกต่างและดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการของทางบริษัทแทนที่จะวางแผนการจองและหาข้อมูลด้วยตนเอง ทางบริษัทมีการปรับตัวและคอยหาข้อมูลแนวโน้มการท่องเที่ยวใหม่ๆ เพื่อให้ทันต่อความต้องการของนักท่องเที่ยวในปัจจุบันโดยเน้นการบริการและตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้รวดเร็วที่สุด ด้านคู่แข่ง เช่น บริษัทข้ามชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย องค์กรมองว่าไม่ใช่คู่แข่งแต่มองว่าเป็นเพื่อนร่วมอาชีพ ที่ต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน เช่น มีการแบ่งลูกค้า หรือรวมลูกค้ากัน เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย (win-win) ด้านอุปสรรค เนื่องจากไม่ค่อยมีความรู้และเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการตลาดออนไลน์สมัยใหม่ ที่มีการใช้ social media เช่น facebook instragram ในการเพิ่มช่องทางการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ จึงอาจจะไม่สามารถตอบสนองลูกค้าได้อย่างครบครัน มีเพียงแค่ line whatapp skype และเบอร์โทรศัพท์ในการตอบข้อสงสัย-ปัญหาของนักท่องเที่ยวเท่านั้น ทั้งนี้มีการแก้ไขปัญหาโดยการปรับตัว และปรับเปลี่ยนเพื่อให้องค์กรสามารถแข่งขันกับองค์กรอื่นได้ และมีการสร้าง partner กับองค์กรอื่นๆ เพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ และลดความเสี่ยงต่างๆ
            ทั้งนี้ทั้ง 3 องค์กรต่างมีการศึกษาและวิเคราะห์สิ่งแวดล้อมทางธุรกิจขององค์กรตนเอง เพื่อสามารถทราบถึงจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาสและอุปสรรคขององค์การ เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจในการลงทุนและพัฒนา ซึ่งนำไปสู่การกำหนดกลยุทธ์ของการดำเนินงานขององค์การได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีความแตกต่างกันไปตามรูปแบบของแต่องค์กรและความสามารถในการจัดการของผู้บริหาร

แนวโน้มธุรกิจของผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวขนาดย่อม
          แนวโน้มธุรกิจนำเที่ยวมีการเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์การณ์การท่องเที่ยว โดยอาจมีการวิเคราะห์สิ่งแวดล้อมทางธุรกิจ เพื่อรวมถึงการคาดการณ์และวิเคราะห์แนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวเพื่อการวางแผนกลยุทธ์ธุรกิจให้มีความสอดคล้องกับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยว โดยสถานการณ์การท่องเที่ยวในปัจจุบัน
สถานการณ์ปัจจุบัน ตอนนี้ประเทศไทยถือเป็น Hub ของสายการบินต่างๆ ในภูมิภาคอินโดจีน ซึ่งสายการบินส่วนใหญ่จะมีการลงจอดในประเทศไทยมากกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค การขายแพ็คเกจการท่องเที่ยวจะเป็นลักษณะขายพ่วงอินโดไชน่า หรือ การไปแถบอินโดจีนซึ่งต้องมีการเดินทางผ่านประเทศไทย นอกจากนี้ยังสามารถขายการท่องเที่ยวของไทยได้ จากสายการบินต้นทุนต่อ เช่น แอร์เอเชีย เป็นต้น ทำให้การเข้าถึง (Accessibility) และการเดินทางเชื่อมโยง (Connectivity) เป็นไปได้โดยสะดวกมากยิ่งขึ้น ในระยะแรก กลุ่มเป้าหมายหลักอาจเป็นนักท่องเที่ยวยุโรป แต่ในปัจจุบันพบว่ามีนักท่องเที่ยวในแถบเอเชีย รวมถึงออสเตรเลียเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้การเชื่อมต่อเส้นทางของถนนในอาเซียน ทำให้เกิด Connectivity ระหว่างประเทศ ดังนั้นการทำธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยวจึงควรมีการหาพันธมิตร อาจหาจากการเข้าร่วมงาน Trade Show มีการสร้างเครือข่ายหรือมีการหา Associate กับประเทศอื่น หรืออาจทำในรูปแบบของ Marketing Group ดังนั้นธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศจึงอาจต้องมีการเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์หรือการดำเนินธุรกิจให้มีความสอดคล้องกับสถานการการท่องเที่ยงดังกล่าว เพื่อทำให้ธุรกิจเกิดการพัฒนาและการทำให้สามารดึงดูดนักท่องเที่ยว
นอกจากนี้พฤติกรรมนักท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไปตามเศรษฐกิจ ส่งผลให้เกิดพฤติกรรมแบบ Last Minute คือ การตัดสินใจหรือเลือกเดินทางท่องเที่ยวในเวลาอันสั้น มีการเดินทางท่องเที่ยวในระยะใกล้มากขึ้น อาจเดินทางในภูมิภาคของตนหรือภูมิภาคใกล้เคียงมากขึ้น ในปัจจุบันนักท่องเที่ยวมีความสนใจในการท่องเที่ยวในความสนใจพิเศษรวมถึงยังมีกระแสของการใส่ใจในสุขภาพและการออกกำลังกายมากขึ้น นักท่องเที่ยวมีแนวโน้มสนใจการท่องเที่ยวในการสนใจพิเศษ เช่น การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Health Tourism) การท่องเที่ยวเชิงผจญภัย(Adventure Tourism) การท่องเที่ยวเชิงศาสนา (Spiritual Tourism) การท่องเที่ยวเพื่อการประชุมและนิทรรศการ (MICE) และการท่องเที่ยวเชิงกีฬา (Sports Tourism) เป็นต้น
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ดำเนินการศึกษาวิจัยโครงการศึกษาแนวโน้ม และทิศทางการท่องเที่ยวไทยในปี 2563 พบว่ามีสาระสำคัญด้านพฤติกรรมนักท่องเที่ยว ดังนี้
·     การสลายเส้นแบ่งอายุ (Age Blurring) ช่วงอายุของคนเริ่มไม่ชัดเจน เด็กเริ่มไม่รู้สึกว่าตนเด็ก (คิดว่าโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว) ส่วนคนแก่ กลับรู้สึกกระฉับกระเฉง และไม่รู้สึกตัวว่าแก่
·     ใจร้อน เร่งรีบ (Speed Culture) ต้องการได้อะไรทันทีจากแรงผลักดันของชุมชนเมือง การเร่งรีบ รวมถึงการทำอะไรหลายอย่างในเวลาเดียวกัน รวมถึงการพร้อมเปลี่ยนแปลง และเปลี่ยนใจตลอดเวลา
·     ชีวิตคู่ขนาน (Online & Offline) ในโลกเสมือน หรือโลกออนไลน์ คนในอนาคตจะใช้เวลาในโลกออนไลน์มากขึ้นเรื่อยๆ
·     พฤติกรรมโซโลโม (SOLOMO) พฤติกรรมการทำอะไร ร่วมกันกับคนอื่น ทำให้เกิดแนวโน้ม Mobile Traveler และกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางเองจะมีจำนวนมากขึ้น
·     ความคาดหวังสูงขึ้นทั้งด้านราคาที่ต้องคุ้มค่า (High Expectation) ใช้สอยระวังการใช้จ่ายมากขึ้น
·     ซึมซับวัฒนธรรมอื่นมากขึ้น (Culture Absorption) โดยเฉพาะการบริโภคภาพยนตร์สื่อจากต่างประเทศ
·     ความสนใจแบบสวนทาง (Conflict in Interest) เป็นการแสวงหาสิ่งที่สวนทางกับแนวโน้มยุคสมัย เช่น การหวนหาคุณค่าในอดีต การตื่นตัวทางศาสนา การบริโภคแบบวิถีเดิม เป็นต้น
กลุ่มนักท่องเที่ยวและพฤติกรรมนักท่องเที่ยวที่มีการเปลี่ยนแปลงไป ทำให้ธุรกิจต่างๆ รวมทั้งธุรกิจนำเที่ยว ต้องมีการปรับตัวให้อยู่รอด โดยเฉพาะธุรกิจนำเที่ยวขนาดย่อม
ธุรกิจ SMEs คือ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ที่มีความเหมาะสม มีความคล่องตัวในการปรับสภาพให้เข้ากับสถานการณ์ทั่วไปของประเทศอีกทั้งยังเป็นวิสาหกิจที่ใช้เงินทุนในจำนวนที่ต่ำกว่าวิสาหกิจขนาดใหญ่
จากการรายงานของธนาคารกรุงเทพ ระบุว่าในปี 2541 วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises : SMEs) ซึ่งประกอบด้วย กิจการการผลิต การค้า และธุรกิจบริการ มีจำนวนรวมทั้งสิน 311,518 ราย คิดเป็นสัดส่วน 92% ของวิสาหกิจทั้งหมดในประเทศในจำนวนนี้เป็นวิสาหกิจประเภทการค้า (ค้าส่ง ค้าปลีก ภัตตาคารและโรงแรม) มากที่สุด 134,171 ราย คิดเป็น 43 % รองลงมาเป็นภาคการผลิต จำนวน 90,122 ราย คิดเป็น 82.9 % และการบริการ จำนวน 87,225 ราย คิดเป็น 28.7 %
กล่าวโดยสรุป SMEs มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ คือ
1)     ช่วยการสร้างงาน
2)     สร้างมูลค่าเพิ่ม
3)     สร้างเงินตราต่างประเทศ
4)     ช่วยประหยัดเงินตราต่างประเทศ โดยการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ
5)     เป็นจุดเริ่มต้นในการลงทุน และสร้างเสริมประสบการณ์
6)     ช่วยเชื่อมโยงกับกิจกรรมขนาดใหญ่ และภาคการผลิตอื่น ๆ เช่น ภาคเกษตรกรรม
7)     เป็นแหล่งพัฒนาทักษะฝีมือ
จะเห็นว่าธุรกิจ SMEs มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก นโยบายเศรษฐกิจของทุกประเทศจึงให้ความสำคัญและสนับสนุนธุรกิจรูปแบบนี้ รวมถึงหน่วยงานต่างๆที่มีการวางแผนและวิเคราะห์เศรษฐกิจในกลุ่มธุรกิจ SMEs โดยเฉพาะ เพื่อรวบรวมข้อมูลให้กับนักธุรกิจในการวางแผนดำเนินธุรกิจต่อไป ตัวอย่างเช่น ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ทำการวิจัยหัวข้อ 10 ธุรกิจเด่นช่วงครึ่งปีหลัง โดยมีธุรกิจที่อยู่ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวดังนี้
·     อันดับ 2 ธุรกิจนำเที่ยวในประเทศ  จากการที่ภาครัฐให้ความสำคัญและสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่ทำรายได้ให้กับประเทศเป็นจำนวนมากในแต่ละปี และประเทศไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้จากการท่องเที่ยวโดยรวมในแต่ละปีมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปี
·     อันดับ 3 ธุรกิจโรงแรม และร้านอาหาร เป็นผลต่อเนื่องจากการที่ภาครัฐให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่มีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศเชื่อมโยงกับหลายอุตสาหกรรม และประเทศไทยมีความหลากหลายของแหล่งท่องเที่ยวในภูมิภาคต่างๆ เกื้อหนุนให้ธุรกิจโรมแรมและร้านอาหารเติบโตตาม
·     อันดับ 9 ธุรกิจขนส่ง และโลจิสติกส์ เนื่องจากความเป็นเมืองที่มีการเติบโต ทำให้ต้องการสินค้าทั้งวัสดุก่อสร้างเพื่อสร้างอาคาร หรือศูนย์การค้าขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงบริการทางการท่องเที่ยว อีกทั้งการเปิด AEC ทำให้การค้าผ่านแดนขยายตัว การส่งออกสินค้าข้ามแดน ทั้งสินค้าเกษตร วัสดุก่อสร้าง สินค้าสำเร็จรูป และการเดินทางในภูมิภาค
จากการให้สัมภาษณ์ของผู้บริหารธุรกิจนำเที่ยวของบริษัท อินโดไชน่า เซอร์วิสเซส เอเซีย จำกัด พบว่า บริษัทมีการเติบโตแบบก้าวกระโดดจนมาถึงจุดที่มีความมั่นคง คงที่ แต่ยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องแต่เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยมีคู่แข่งทางธุรกิจและการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจ จากสถานการณ์ในปัจจุบันและจากการวิเคราะห์แนวโน้มพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวรวมถึงข้อมูลจากการสัมภาษณ์ธุรกิจนำเที่ยวดังกล่าวคาดว่าธุรกิจนำเที่ยวมีโอกาสที่จะเติบโต เพราะมีโอกาสจากการที่มีเครื่อข่ายของบริษัทจัดตั้งในประเทศเพื่อนบ้านทั้งเวียดนาม ลาว พม่า เขมร ทำให้มีความได้เปรียบทางด้าน Connection ระหว่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีโอกาสจากการที่ประเทศไทยเป็น Hub ของสายการบินต่างๆ ทำให้การเดินทางเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติมีอัตราที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสให้ธุรกิจนำเที่ยวใช้กลยุทธ์ทางการตลาดในการเข้าถึงดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวได้มากขึ้น บริษัทยังมีจุดแข็งที่มีการมีการออกแบบ Database เป็นของตนเอง ทำให้สะดวกรวดเร็วในการให้บริการ ซึ่งสามารถตอบสนองพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวในปัจจุบันที่ต้องการความสะดวกและรวดเร็ว นอกจากนี้ทางบริษัทยังมีการติดตามและมีการวิเคราะห์เทรนการท่องเที่ยวรวมถึงพฤติกรรม ความสนใจของนักท่องเที่ยวเพื่อปรับเปลี่ยนProductให้เกิดรูปแบบใหม่และสอดคล้องกับความต้องการของนักท่องเที่ยวอีกด้วย
แนวโน้ม ของบริษัท อะเบอร์ครอมบีแอนด์เค้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด สามารถวิเคราะห์ได้ว่ามีแนวโน้มเติบโตขึ้น เนื่องจากเป็นธุรกิจนำเที่ยวเข้าในประเทศ จัดนำนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย ซึ่งธุรกิจนำเที่ยวในประเทศมีแนวโน้มเติบโตขึ้น ทำให้เป็นโอกาสของบริษัท อะเบอร์ครอมบีแอนด์เค้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด อีกทั้งการเปิดประชาคมอาเซียนทำให้การเดินทางท่องเที่ยวในภูมิภาคสะดวกและง่ายขึ้น นักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีความสนใจประเทศไทยเดิม สามารถเดินทางไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้สะดวก การเปิดประชาคมอาเซียนจึงทำให้ภูมิภาคนี้เป็นจุดหมายปลายทางเดียว (Single Destination) ที่มีความน่าสนใจและสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติได้เป็นอย่างดี
จากการสัมภาษณ์ของผู้บริหารของบริษัท อเล็กซ์ ฮอลิเดย์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทนำเที่ยวแบบ Inbound พบว่า บริษัทมีการเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป มีความน่าเชื่อถือ ความชำนาญในการให้บริการ และมีฐานลูกค้าเดิม ซึ่งทำให้บริษัทสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ อีกทั้งผู้บริหารได้มีการศึกษาแนวโน้มของธุรกิจนำเที่ยวและพฤติกรรมนักท่องเที่ยว ทำให้มีการพัฒนา Product ให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น และมีความยืดหยุ่นของผลิตภัณฑ์ โดยเน้นการจัดรายการนำเที่ยวตามความต้องการของลูกค้า ทำให้มีฐานลูกค้ากว้าง หลากหลายประเทศ นอกจากนี้บริษัทให้ความสำคัญกับการบริการแบบ one stop service ผ่านเว็บไซต์ของบริษัท ซึ่งถือเป็นจุดแข็งของบริษัท ในการนำเทคโนโลยีมาใช้ ทำให้นักท่องเที่ยวได้รับความสะดวกสบายในการใช้บริการของบริษัท ซึ่งตรงกับแนวโน้มการท่องเที่ยวโลก ที่เทคโนโลยีมีบทบาทต่อนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่
สรุปแนวโน้มของธุรกิจจัดนำเที่ยวเข้าในประเทศของธุรกิจขนาดย่อมในประเทศไทย มีแนวโน้มว่าจะต้องปรับกลยุทธ์ธุรกิจตามลักษณะของพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของนักท่องเที่ยว โดยสามารถปรับได้ทั้งในส่วนของผลิตภัณฑ์ กลุ่มตลาด หรือช่องทางการจัดจำหน่าย เช่น ธุรกิจประเภท Tour Operator ควรมุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีความแปลกใหม่ หรือผลิตภัณฑ์ที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการของนักท่องเที่ยว ธุรกิจประเภท Travel Agent ควรมุ่งเน้นการปรับช่องทางการจัดจำหน่าย ให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น และเน้นช่องทางออนไลน์ ที่เป็น One Stop Service เป็นต้น ถึงแม้ว่าในปัจจุบัน นักท่องเที่ยวจะหันมานิยมท่องเที่ยวด้วยตนเองมากขึ้น และการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสามารถทำได้ง่าย ทำให้บทบาทของธุรกิจนำเที่ยวลดลง ทว่า ในตลาดธุรกิจจัดนำเที่ยวเข้าในประเทศของประเทศไทย ยังเป็นธุรกิจที่สามารถเติบโตได้ เพราะจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวยังประเทศไทย และในภูมิภาคมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการปรับกลยุทธ์ธุรกิจให้เท่าทันความต้องการของนักท่องเที่ยวจะช่วยให้ธุรกิจขนาดย่อมสามารถประสบความสำเร็จได้เช่นเดียวกันกับธุรกิจขนาดใหญ่

______________________________________________ 

 
บรรณานุกรม

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. (2558). สรุปแผนส่งเสริมตลาดการท่องเที่ยวประจำปี
งบประมาณ 2558. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2558 จาก http://market
ingdatabase.tat.or.th/ downloadfile_upload/Untitled%20attachment %2000 032
.pdf.
กองวิจัยการตลาด ททท. 2558. การศึกษาแนวโน้มและทิศทางการท่องเที่ยวไทยในปี
2563” วารสาร TAT Review (เมษายน-มิถุนายน): 14.
นุชนารถ รัตนสุวงศ์ชัย. 2557. การจัดการธุรกิจนำเที่ยว. กรุงเทพฯ: ภาควิชาศิลปาชีพ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. (อัดสำเนา)
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (2558). ม.หอการค้าไทย
เผย 10 ธุรกิจ ดาวรุ่ง-ดาวร่วง ครึ่งหลังปี58. สืบค้นจาก http://www.marketing
oo ps.com/news/ cebf-utcc-business-half-year-2015/http://www.dailynews.
co.th/economic/341469.
สำนักงานบัญชี Charter.(2556). บริษัท กับ ห้างหุ้นส่วน. สืบค้นเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2558
จาก http://www.charteracc.com/3610361936363625363336073649 362136323
62736573634359136273640365736093626365636233609.html
CKA Accouting & Law. (2558). เปรียบเทียบข้อดีข้อเสียของของการเลือกรูปแบบ
องค์กร. สืบค้นเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2558 จาก http://cka-registration.blogspot
.com/
tour-excenter. (2552). โครงสร้างและการบริหารงานของบริษัทนำเที่ยว.[ออนไลน์].
สืบค้นเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2558 จาก http://tour-excenter.com/ Organizchart_
Tourism.html




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น