วันศุกร์ที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559

รูปแบบและแนวโน้มธุรกิจนำเที่ยว (Outbound)




รูปแบบและแนวโน้มธุรกิจของผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวขนาดย่อม
ของธุรกิจจัดนำเที่ยวออกนอกประเทศ

นิสิตภาควิชาศิลปาชีพ กลุ่มที่ 1 ปีการศึกษา 2558
 คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

บทคัดย่อ

            บทความชิ้นนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบและแนวโน้มธุรกิจของผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวขนาดย่อมแบบ Outbound โดยมีประเด็นการศึกษาต่างๆ ได้แก่ รูปแบบการทำธุรกิจ ลักษณะโครงสร้างองค์การ กลุ่มตลาดเป้าหมายของผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวขนาดย่อมแบบ Outbound  ผลิตภัณฑ์การบริการ แนวโน้มธุรกิจขององค์การ สิ่งแวดล้อมธุรกิจในภาพรวม สภาพแวดล้อมเศรษฐกิจโลกและไทยต่อธุรกิจ Outbound  องค์การคู่แข่งและสมาคมที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจนำเที่ยวแบบ Outbound โดยได้นำประเด็นศึกษาทั้งหมดนี้มาวิเคราะห์และอ้างอิงจากเอกสารที่ได้มาจากการสัมภาษณ์องค์การธุรกิจนำเที่ยวขนาดย่อมแบบOutbound และเอกสารอ้างอิงอื่นๆ
จากการรวบรวมและศึกษาข้อมูลข้างต้นพบว่าแนวโน้มของธุรกิจนำเที่ยวขนาดย่อมแบบ Outbound ในอนาคตจะมีนักท่องเที่ยวในประเทศออกเดินทางไปต่างประเทศมากขึ้น รวมไปถึงนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกจะมีการออกเดินทางมากขึ้น รวมถึงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจของโลกเปลี่ยนแปลงไป ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวแบบOutbound จึงต้องมีการปรับตัวในอนาคตเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกและปัจจัยต่างๆที่เป็นผลกระทบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อความต้องการของนักท่องเที่ยว

คำสำคัญ: ธุรกิจนำเที่ยว, Outbound, รูปแบบและแนวโน้มธุรกิจ, สภาพแวดล้อมเศรษฐกิจ

______________________________________________


รูปแบบและแนวโน้มธุรกิจของผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวขนาดย่อมแบบOutbound

รูปแบบการบริการและขอบเขตหน้าที่การรับผิดชอบของธุรกิจนำเที่ยวแต่ละแบบนั้นจะขึ้นอยู่กับขนาดของบริษัทเงินทุนและประเภทของการจัดนำเที่ยว ซึ่งโดยทั่วไปแล้วธุรกิจนำเที่ยวจะแบ่งประเภทได้2แบบ คือ
1)        Tour Agency หรือ ธุรกิจตัวแทนท่องเที่ยว คือ หน่วยงานที่รับหรือนำรายการท่องเที่ยวที่ผลิตโดยบริษัทธุรกิจจัดนำเที่ยว(Tour Operator) มาขายโดยรับค่านายหน้า(Commission)เป็นค่าตอบแทน
2)        Tour Operator / Tour Company หรือธุรกิจนำเที่ยว คือ หน่วยงานที่ผลิตรายการนำเที่ยวหรือPackage Tour ประกอบไปด้วยค่าคมนาคม ค่ายานพาหนะ ค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่านำเที่ยว ค่าเข้าชม และอื่นๆ เมื่อผลิตรายการนำเที่ยวได้แล้วก็ต้องทำการโฆษณาตามสื่อต่างๆ ทำแผ่นพับหรือโบรชัวร์ แจกจ่ายให้กับบริษัทตัวแทนตัวแทนท่องเที่ยว หรือ Travel agency

รูปแบบการทำธุรกิจ
ในปัจจุบันลักษณะการทำธุรกิจแบ่งออกเป็น3แบบด้วยกัน คือแบบบุคคลธรรมดา, ห้างหุ้นส่วนและแบบบริษัทจำกัด ซึ่งสำหรับผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวขนาดย่อมแบบOutboundจะเป็นในลักษณะของบริษัทจำกัดเสียส่วนมาก ซึ่งบริษัทจำกัดเป็นรูปแบบการจัดตั้งธุรกิจที่ต่อยอดมาจากรูปแบบธุรกิจที่มีเจ้าของแต่เพียงผู้เดียวในอดีต โดยบริษัทจำกัดจะมีรูปแบบการก่อตั้งในลักษณะที่เป็นนิติบุคคล หมายถึง การรวมตัวกันของกลุ่มบุคคลเพื่อดำเนินการสิ่งหนึ่งสิ่งใดโดยมีกฎหมายเป็นผู้รับรองการมีตัวตนอยู่จริง โดยบริษัทจะต้องมีผู้ร่วมลงทุนอย่างน้อยที่สุด 3 คน แบ่งทุนออกเป็นหุ้นๆและมีมูลค่าหุ้นแต่ละตัวเท่ากันทั้งหมด โดยผู้ถือหุ้นจะมีส่วนรับผิดชอบตามจำนวนของหุ้นที่ตนเองถือเท่านั้น ซึ่งประเภทธุรกิจจำกัดมีข้อดีข้อเสียดังต่อไปนี้

ข้อดี (อิงค์ควิตี้, ...)
·     ตามจำนวนหุ้นที่ถือจริง ข้อนี้ถือเป็นประโยชน์ที่เด่นชัดมากที่สุดของการจัดตั้งบริษัทในรูปแบบนี้ เพราะจำนวนเงินผลกำไรโดยเฉพาะในเรื่องของภาระหนี้สินจะถูกคิดตามจริงโดยนับจากจำนวนหุ้นที่ถือในบริษัท ไม่มีการกินส่วนเกินนำไปหักจากทรัพย์สินส่วนตัวเมื่อเกิดภาวะขาดทุนขึ้นกับบริษัท
·     บริษัทจำกัดเกิดขึ้นจากผู้ถือหุ้นที่มีจำนวนตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป นั่นหมายถึงข้อจำกัดในเรื่องเงินทุนที่เป็นปัญหาสำหรับธุรกิจที่มีเจ้าของแต่เพียงคนเดียวจะถูกขจัดออกไป ผู้ประกอบการมีช่องทางในการเรียกระดมทุนได้ค่อนข้างมาก เช่น วิธีการขายหุ้นของบริษัท เป็นต้น
·     บริษัทจำกัดจะมีเงินลงทุนที่มากมายมหาศาลอันเกิดจากเงินของหุ้นส่วนแต่ละคน ดังนั้นปัจจัยข้อผูกมัดทางการบริหารจะไม่ได้ถูกผูกติดอยู่ที่เจ้าของแต่เพียงผู้เดียว จึงเป็นจุดกำเนิดของการจ้างผู้บริหารระดับมืออาชีพที่มีความรู้เฉพาะทางเข้ามาบริหารงานแทนเพื่อให้ธุรกิจสามารถทำกำไรตอบแทนผู้ถือหุ้นได้มากที่สุด
ข้อเสีย
·   เพราะความที่บริษัทจำกัดต้องดำเนินการทุกอย่างภายใต้กรอบของกฎหมายทำให้มีระเบียบที่คอยควบคุมการจัดตั้งบริษัทค่อนข้างมากจึงไม่ค่อยเหมาะสมกับผู้ประกอบการที่ไม่มีความรู้ในเรื่องของกฎหมายธุรกิจสักเท่าไหร่ รายได้ทุกอย่างต้องถูกแบ่งตามสัดส่วน ปัญหาข้อนี้จะเกิดขึ้นหากมีผู้ประกอบการคิดว่าส่วนแบ่งที่ตนเองได้ไม่คุ้มค่ากับที่ตนเองดำเนินการลงมือทำไปจริงๆ เพราะบางธุรกิจผู้ที่ถือหุ้นเยอะที่สุดบางครั้งมักจะไม่ใช่ผู้ที่ต้องเหน็ดเหนื่อยทำธุรกิจเอง จึงเกิดความน้อยใจสำหรับผู้ที่ถือหุ้นน้อยกว่าที่คิดว่าตัวเองถูกเอาเปรียบจากผู้ถือหุ้นคนอื่นๆ
·     อำนาจบริหารมักจะถูกผูกขาดไว้ที่ผู้ที่ถือหุ้นมากที่สุด ซึ่งหากผู้ประกอบการไม่ใช่ผู้ที่ถือหุ้นใหญ่สุดในบริษัทก็ยากที่จะกำหนดทิศทางการทำธุรกิจให้เป็นไปตามรูปแบบที่ตนเองต้องการ ขาดความคล่องตัวในการตัดสินใจ ธุรกิจเป็นเรื่องที่ต้องแข่งขันกับเวลาเพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสในการต่อสู้กับธุรกิจคู่แข่ง แต่เป็นเรื่องที่ทำได้ค่อนข้างลำบากมากหากเป็นบริษัทจำกัด เพราะทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจต้องเอาเข้าที่ประชุมเพื่อผ่านการเห็นชอบจากผู้ถือหุ้น แตกต่างกับธุรกิจที่มีเจ้าของแต่เพียงผู้เดียวที่การตัดสินใจสามารถทำได้โดยทันที
·     มีข้อกำหนดตามกฎหมายที่ถูกระบุเป็นตัวอักษรอย่างชัดเจนให้ธุรกิจที่จัดตั้งเป็นบริษัทจำกัดต้องส่งตัวเลขงบดุลต่างๆทางบัญชีไปให้สำนักทะเบียนพาณิชย์เพื่อทำการเปิดเผยต่อสาธารณชน จึงทำให้ผู้ประกอบการต้องเสียเงินจ้างบริษัทบัญชีที่ได้รับใบอนุญาตมาเป็นผู้ตรวจสอบและจัดการในเรื่องดังกล่าวให้
จากข้อดี ข้อเสียดังกล่าวจะเห็นได้ว่า การบริหารบริษัทประเภทจำกัดสามารถทำได้ง่าย และเมื่อบริษัทเกิดภาระหนี้สินจะไม่ตกแก่ผู้บริหารฝ่ายเดียว หากผู้ประกอบการและผู้ถือหุ้นมีความเชื่อใจกันและดำเนินปฏิบัติตามกฎหมายที่ซับซ้อนได้ ดังนั้นธุรกิจนำเที่ยวOutbound ขนาดย่อมจึงเลือกตั้งบริษัทประเภทดังกล่าว

ลักษณะโครงสร้างองค์กร
 
 ในปัจจุบันโครงสร้างองค์กรนั้นแบ่งออกเป็น3แบบด้วยกัน กล่าวคือ
1)   แบบแนวดิ่ง เป็นการแบ่งงานในองค์กรออกเป็นแผนกงาน ออกเป็นชั้นหรือระดับตามแนวดิ่ง โดยยึดความสำคัญของอำนาจบังคับบัญชาและหน้าที่ ลดหลั่นกันไปตามสายการบังคับบัญชา มีผู้บริหารสูงสุดมีอำนาจในการวางแผนและตัดสินใจ ซึ่งบางบริษัทมีการแบ่งระดับชั้นมากจะทำให้โครงสร้างองค์กรเป็นรูปทรงสูง จึงอาจทำให้เกิดปัญหาด้านความล่าช้าในการสื่อสาร การประสานงานและตัดสินใจจนทำให้ขาดความคล่องตัวและความยืดหยุ่นในการปรับตัวตามสถานการณ์ของธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน
2)   แบบแนวนอน เป็นการจัดองค์กรแบบแนวราบโดยมุ่งเน้นแบ่งเป็นแผนกงานตามหน้าที่ และมุ่งความพึงพอใจของลูกค้าเป็นสำคัญ มีสายบังคับบัญชาตามแนวนอนและมีการปรับงานให้กระชับมากขึ้น เช่น ในทีมงานกระบวนการบริหารด้านบัญชีอาจครอบคลุมหน้าที่ทั้งในด้านการขาย การออกเอกสารใบเสร็จและงานบริการเข้าด้วยกัน โดยตัดงานใดก็ตามที่ไม่เพิ่มมูลค่าหรือรายได้ออกไป มีการใช้ข้อมูลข่าวสารผ่านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ความเร็วสูงทั่วองค์กร โดยเฉพาะตามแนวนอนที่รอจากระดับบนสู่ระดับล่าง จึงช่วยให้การทำงานตัดสินใจของฝ่ายต่างๆถูกต้องแม่นยำและรวดเร็วขึ้น นอกจากนี้โครงสร้างองค์กรแบบนี้ยังช่วยให้พนักงานมีความใกล้ชิดกับทั้งลูกค้าภายในและภายนอกมากขึ้น กล่าวคือ มีโอกาสได้ซักถาม ได้ข้อมูลย้อนกลับรวมทั้งได้ร่วมมือกันแก้ปัญหาใดๆที่อาจเกิดขึ้น
3)   แบบผสม เนื่องจากสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ซับซ้อนในปัจจุบัน ทำให้องค์การต่างๆใช้โครงสร้างแบบผสมเพื่อมุ่งความเป็นดุลยภาพของการบริหาร แม้แต่ในธุรกิจนำเที่ยวเองก็เช่นกันดยทุกแผนกได้รับคำสั่งจากผู้บริหารเป็นแนวดิ่งก่อน แต่ละแผนกมีการทำหน้าที่หลายอย่าง เช่น แผนกบัญชีจะทำหน้าที่ด้านการเงินด้วย ส่วนแผนกจัดทัวร์และรายการนำเที่ยวจะทำหน้าที่การตลาดด้วยเช่นกัน ดังเช่นกรณีศึกษาในการสัมภาษณ์บริษัทอูดาชิ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทธุรกิจนำเที่ยวประเภทoutbound เป็นบริษัทขนาดเล็ก คือทางบริษัทมีพนักงาน15คน ก็จะมีการแบ่งงานแบบควบหน้าที่คือแผนกหนึ่งทำมากกว่าหนึ่งหน้าที่แต่เป็นขอบเขตงานที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน หรือบางครั้งอาจมีการจ้างพนักงานที่เป็นoutsource าดูแลลูกทัวร์ด้วยนั่นเอง

กลุ่มตลาดเป้าหมาย  

ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวขนาดย่อมแบบOutboundในปัจจุบัน ค่อนข้างหันมาเน้นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เป็นองค์กรมากขึ้น เช่น กลุ่มตลาดMICE และกลุ่มลูกค้าที่ต้องการความเป็นส่วนตัว โดยจัดโปรแกรมจัดนำเที่ยวตามความต้องการของลูกค้า ซึ่งลูกค้าในกลุ่มนี้มักเป็นลูกค้ากลุ่มเดิมที่ใช้บริการประจำรวมทั้งลูกค้าใหม่ทีได้มากจากการบอกต่อของลูกค้าประจำด้วย

ผลิตภัณฑ์การบริการ
 
ประกอบไปด้วยการจำหน่ายตั๋วเครื่องบิน, การทำVISA บริการสำรองที่พัก โรงแรม บังกะโล รีสอร์ทต่างๆ จัดรายการนำเที่ยวและกิจกรรมต่างๆตามความต้องการของลูกค้า รับจัดสัมมนา งานเลี้ยงสังสรรค์ ซึ่งการคิดราคาผลิตภัณฑ์ที่ได้มาจากTour operator ส่วนหนึ่ง และคิดราคาตามต้นทุนของลูกค้าอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งหัวใจสำคัญที่จะทำให้ลูกค้าประทับใจบริษัททัวร์คือ การบริการที่ดูแลเอาใจใส่ และรายการนำเที่ยวที่มีราคาสมเหตุสมผล ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงรายการนำเที่ยว ปรับรายการนำเที่ยวให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าได้อย่างตรงจุด สิ่งดังกล่าวจะทำให้ผลิตภัณฑ์ของบริษัททัวร์มีความโดดเด่นและเกิดword of mouth ซึ่งเป็นการตลาดช่องทางที่สำคัญอีกชองทางหนึ่งของธุรกิจSME

แนวโน้มธุรกิจขององค์กร

ผลสำรวจฉบับล่าสุดเกี่ยวกับแผนการท่องเที่ยวระดับโลกของวีซ่าประจำปี 2558(Visa Global Travel Intentions Study 2015) เผยให้เห็นว่าในรอบสองปีที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวชาวไทยมากถึง 89% ออกเดินทางท่องเที่ยวไปต่างประเทศและมากสุดถึง 5 ทริปต่อคน จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นข้อได้เปรียบของผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวแบบ Outbound แต่ในขณะเดียวกันความนิยมเดินทางท่องเที่ยวด้วยตัวเองก็เพิ่มมากขึ้นเช่นกันซึ่งเป็นในช่วงกลุ่มอายุ18-35ปี สำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางด้วยตัวเองเหล่านี้ (81%) นิยมทำการจองผ่านระบบออนไลน์ และสามในสี่ของนักท่องเที่ยวชาวไทย (75%) เลือกใช้บัตรเครดิตในการซื้อสินค้าและบริการระหว่างการท่องเที่ยว เพราะเป็นวิธีการชำระเงินที่พวกเขาพึงพอใจ
แนวโน้มสำหรับผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวแบบOutbound จึงอาจต้องมีการปรับตัวในอนาคต  เช่นการสร้างความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์การบริการ,การให้บริการออนไลน์ที่ครอบคลุมมากขึ้น รวมถึงการรักษาฐานลูกค้าเดิมไว้ซึ่งถือเป็นกลุ่มลูกค้าที่จะเป็นรายได้หลักในอนาคต โดยจากผลสำรวจพบว่ากลุ่มคนที่มีอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป(ซุปเปอร์บูมเมอร์) นั้นเลือกการเดินทางกับบริษัททัวร์ท่องเที่ยวและให้ความสำคัญกับราคาที่จับต้องได้ต้องรู้สึกว่าคุ้มค่าคุ้มราคา ความซับซ้อนของความต้องการที่มากขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวแบบOutboundจะต้องนำมาพิจารณาเพื่อให้ธุรกิจยังคงอยู่ต่อไป

สิ่งแวดล้อมธุรกิจในภาพรวม

สิ่งแวดล้อมทางธุรกิจนั้นสามารถจำแนกออกได้เป็น 2 ประเภทคือ สิ่งแวดล้อมภายใน (Internal Environment) และสิ่งแวดล้อมภายนอก (External Environment)   โดยที่สิ่งแวดล้อมภายใน (Internal Environment) หมายถึงปัจจัยหรือสิ่งแวดล้อมภายในองค์กรธุรกิจซึ่งสามารถควบคุมให้เป็นไปในทิศทางที่ต้องการได้และจัดเป็นปัจจัยหลักที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงกับธุรกิจเป็นหลักเช่น จุดแข็ง (Strength) และจุดอ่อน (Weakness) องค์ประกอบสภาพแวดล้อมภายในเช่น โครงสร้างองค์กร กลยุทธ์องค์กร บุคลากร วัฒนธรรมองค์กร องค์ประกอบอื่นๆ เช่น พันธะกิจของบริษัทเป็นต้น  ส่วนสิ่งแวดล้อมภายนอก (External Environment) หมายถึงปัจจัยภายนอกหรือสิ่งแวดล้อมภายนอกองค์กรธุรกิจ ซึ่งองค์กรกรธุรกิจไม่สามารถควบคุมได้แต่มีผลกับความเปลี่ยนแปลงระบบการตลาด สร้างให้เกิดทั้งโอกาส (Opportunity) และ อุปสรรค (Treat) ซึ่งสิ่งแวดล้อมภายนอกสามารถจำแนกออกเป็น สิ่งแวดล้อมภายนอกแบบจุลภาค และสิ่งแวดล้อมภายนอกแบบมหภาค โดยสิ่งแวดล้อมภายนอกแบบจุลภาคประกอบไปด้วย
·     ตลาด หรือลูกค้า เป็นกลุ่มเป้าหมายที่มีความต้องการในผลิตภัณฑ์ มีเงินที่จะซื้อ มีความปรารถนาที่จะจ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าและมีอำนาจในการตัดสินใจในการซื้อ โดยธุรกิจนำเที่ยวในปัจจุบันควรให้ความสำคัญในเรื่องของอำนาจการต่อรองของลูกค้า เพราะในปัจจุบัน
ลูกค้ามีช่องทางและตัวเลือกในการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทางการท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้น
·     ผู้ขายปัจจัยการผลิตหรือวัตถุดิบ เช่น ที่พัก บริษัทที่ให้บริการเรื่องการเดินทางขนส่ง ร้านอาหาร แหล่งท่องเที่ยวต่างๆ  เพราะจะมีผลกระทบต่อธุรกิจ หากมีต้นทุนการผลิตที่สูงเกินไป หรือไม่สามารถจัดส่งวัตถุดิบไปตามเวลา ก็จะทำให้ธุรกิจมีความเสียหาย
·     คนกลางทางการตลาด เป็นหน่วยที่ช่วยกระจายสินค้าจากบริษัทออกไปยังลูกค้าสามารถแบ่งออกได้เป็น คนกลาง ในลักษณะแบบพ่อค้าคนกลาง ที่ช่วยกระจายผลิตภัณฑ์ทางการท่องเที่ยวไปยังผู้บริโภค และสถาบัน(Agent) หรือ ธุรกิจตัวแทนที่มาดำเนินการช่วยจัดจำหน่าย
·     คู่แข่งขัน บริษัทจะประสบความสำเร็จได้นั้นจะต้องสามารถตอบสนองความต้องการ และสร้างความพึงพอใจได้เหนือกว่าคู่แข่งขัน ดังนั้นผู้บริหารจึงต้องทำมากกว่าการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคเป้าหมาย แต่ต้องสามารถวางตำแหน่งผลิตภัณฑ์ในจิตใจของลูกค้าได้เหนือกว่าคู่แข่งขันไม่ว่าจะเป็นคู่แข่งขันทางตรงและคู่แข่งทางอ้อม          
·     ผลิตภัณฑ์ทดแทน หมายถึงผลิตภัณฑ์ที่เป็นทางเลือกสำหรับลูกค้าในการซื้อ ยิ่งจำนวนของสินค้าทดแทนมากขึ้นเท่าใด กำไรส่วนเกินก็ยิ่งมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ผู้บริหารจึงควรเปลี่ยนอุปสรรคเป็นโอกาส โดยที่ธุรกิจจะต้องพยายามสร้างคุณสมบัติผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่แตกต่างเหนือกว่าคู่แข่งขัน และสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้
    ส่วนสิ่งแวดล้อมภายนอกแบบมหภาค แบ่งเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆด้วยกัน ได้แก่ สภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับงาน เป็นสภาวะแวดล้อมที่ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจในทางอ้อม สภาพแวดล้อมทั่วไป เช่น สภาพเศรษฐกิจโดยรวม เทคโนโลยี การเมืองและกฎหมาย สังคมและวัฒนธรรม เป็นต้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าสภาพแวดล้อมภายนอกทางธุรกิจนั้นจัดเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการขับเคลื่อนธุรกิจเป็นอย่างมาก แม้ไม่ได้เป็นทางตรงแต่เนื่องจากมีอำนาจหรือแรงที่สามารถฉุดหรือผลักดันทิศทางของธุรกิจได้ผ่านทางลักษณะปัจจัยในด้านต่างๆ ดังที่ได้ยกตัวอย่างข้างต้น ตัวอย่างเช่น การพัฒนาทางเทคโนโลยีสารสนเทศทั่วโลก มีผลต่อการพัฒนาศักยภาพการทำงานภายในองค์กรและมีผลกระทบต่อประสิทธิภาพของบุคลากร เช่นการช่วยเหลือการทำงานของบุคลากรหรือนำมาทดแทนการใช้แรงงานของบุคลากร ซึ่งเป็นการส่งผลจากสภาพแวดล้อมภายนอกสู่สภาพแวดล้อมภายใน นอกจากนี้เทคโนโลยียังสามารถพัฒนาช่องทางการจัดจำหน่ายหรือสื่อสำหรับการแพร่กระจายข่าวสารซึ่งมาจากการสื่อสารภายนอกที่ไม่ได้มาจากกระบวนการทำงานภายในองค์กรเช่นการแพร่กระจายข่าวสารของลูกค้าผู้เคยมีประสบการณ์หรือการทำการตลอดแบบปากต่อปากผ่านตัวอักษรในสื่อออนไลน์เป็นต้น สังเกตได้ว่าเทคโนโลยีนั้นมีผลในการพัฒนาและผลักดันตัวองค์กรที่ปรับปรุงสภาพแวดล้อมภายในจากผลกระทบของสภาพแวดล้อมภายนอกไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเหมาะสม และในทางกลับกันสภาพแวดล้อมภายนอกเช่นสื่อสังคมหรือเทคโนโลยีก็ควบคุมได้ยาก ในกรณีที่เกิดความเสียหายต่อทางบริษัทจากประสบการณ์ของลูกค้าข่าวสารที่ไม่สามารถควบคุมได้ผ่านสื่อเทคโนโลยีมักเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเสมอๆ  

สภาพแวดล้อมเศรษฐกิจโลกและไทยต่อธุรกิจ Outbound 

ธุรกิจการจัดนำเที่ยว Outbound หรือรูปแบบธุรกิจที่นำคนภายในประเทศออกไปท่องเที่ยวยังต่างประเทศ ธุรกิจในลักษณะนี้นั้นมีความเกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมและปัจจัยต่างๆภายนอกอยู่หลากหลายลักษณะ ซึ่งทั้งหมดนั้นล้วนส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมแก่ธุรกิจการจัดนำเที่ยว outbound ทั้งในด้านกระบวนการทำงานและโอกาสหรืออุปสรรค
1)   ด้านของทางเศรษฐกิจ  เศรษฐกิจทั่วโลกนั้นส่งผลต่อธุรกิจ Outbound ในลักษณะของค่าเงินต่างประเทศที่เกิดจากการแลกเปลี่ยนเงินตราซึ่งมีอัตราการแกว่งตัวหรือที่เรียกว่าค่าเงินของแต่ละสกุลเงินไม่เท่ากันซึ่งอัตราการแลกเปลี่ยนดังกล่าวไม่ใช่อัตราคงที่แต่เป็นอัตราค่าเงินที่มีการปรับขึ้นและลดลงขึ้นกับปัจจัยและสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจในแต่ละภาคส่วนส่งผลกระทบกันไปเป็นลูกโซ่ ค่าเงินและอัตราแลกเปลี่ยนนั้นมีผลต่อกระบวนการดำเนินการของบริษัททั้งการจัดโปรแกรม การคำนวณราคาสำหรับการจัดโปรแกรมและกำไร เป็นต้น
                 สถานการณ์เศรษฐกิจโลกยังคงซบเซา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (2558) โดยเฉพาะเศรษฐกิจของประเทศจีนและญี่ปุ่นที่ยังชะลอตัวลง ส่งผลกระทบต่อประเทศอื่นๆ ในเอเชีย ในขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐและกลุ่มประเทศยุโรปยังไม่แข็งแกร่งพอที่จะดึงเศรษฐกิจโลกในภาพรวมให้ฟื้นตัวได้ ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวค่อนข้างช้า ซึ่งเป็นผลมาจากการบริโภคในประเทศที่ยังคงชะลอตัวและการส่งออกที่ยังคงไม่ฟื้นตัว การคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยปี 2558 เหลือร้อยละ 2.7-3.2 จากเดิมร้อยละ 3.0-4.0 (เอวิกานต์ บัวคง, 2558) แต่ก็มีกลไกที่ทำให้ฟื้นตัวได้แก่ การลงทุนภาครัฐที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ความเชื่อมั่นของเอกชนมีการลงทุนเพิ่ม  และการเอื้ออํานวยต่อการดําเนินโยบายการเงินผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง ทำให้การลงทุนและเศรษฐกิจขยายตัว (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ, 2558: 1)
             ด้านอัตราแลกเปลี่ยนของเงินบาทอ่อนค่าลงค่อนข้างมากเทียบกับเงินสกุลหลักและภูมิภาคโดยเป็นผลมาจากการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนในเดือนพฤษภาคมอ่อนค่าไปอยู่ระดับสูงกว่า 33 บาท/ดอลลาร์ (ททท, 2558 : 2-3) ผลกระทบส่วนหนึ่งมาการอ่อนตัวของค่าเงินหยวน 4.6% ในช่วงวันที่ 11-13 สิงหาคม พ..2558 เพี่อที่จีนสร้างความได้เปรียบจากการส่งออกเพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งจากการค้าระหว่างประเทศ ถ้าประเทศใหญ่ทำแบบนี้จะทำให้การอ่อนค่าเงินของประเทศพัฒนาได้ประโยชน์น้อยลง ประเทศจีนมีการผูกค่าเงินตั้งแต่ปี 1997-2005 โดยรักษาค่าเงินหยวนให้อยู่นิ่งที่ 8.27 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐได้เกือบสิบปี พร้อมๆกับการเกินดุลการค้าที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้สหรัฐเริ่มกล่าวหาว่าจีนจงใจทำให้ค่าเงินอ่อนกว่าความเป็นจริง (ศูนย์วิจัยกสิกร, 2558) ซึ่งการอ่อนตัวของค่าเงินมีอิทธิพลอำนาจการซื้อของและการบริการของนักท่องเที่ยวมีความประหยัดมากขึ้น
             นอกจากนี้ ด้านสถานการณ์ทั่วไป มีผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสเมอร์สในเกาหลีใต้ ส่งผลกระทบต่อตลาดการท่องเที่ยวเกาหลีใต้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2558 จะมีนักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปท่องเที่ยวที่เกาหลีใต้ประมาณ 437,500 คน หรือหายไปประมาณร้อยละ 8.9 ข่าวการระบาดของโรคในเกาหลีใต้ที่ทำให้มีประชาชนเสียชีวิต ได้สร้างความตื่นตัวโดยทางการไทยเพิ่มมาตรการการติดตามโรค ไม่ให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้างต่อชีวิตของประชาชนและเศรษฐกิจ เนื่องจากประเทศเกาหลีใต้เป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวชาวไทย ในขณะเดียวกันผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวและสายการบิน โดยเฉพาะในกลุ่มสายการบินต้นทุนต่ำ ต่างให้ความสำคัญในการทำตลาดด้วยกลยุทธ์ด้านราคาอย่างเข้มข้น จูงใจนักท่องเที่ยวให้เดินทางไปประเทศเกาหลีใต้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าในปี 2558 จะมีนักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปท่องเที่ยวที่เกาหลีใต้ประมาณ 437,500 คน ลดลงร้อยละ 8.9 จากคาดการณ์เดิมก่อนที่จะมีการระบาดของโรค ซึ่งคาดว่าจะมีคนไทยเดินทางไปท่องเที่ยวที่เกาหลีใต้ประมาณ 480,000 คน น่าจะทำให้ตลาดไทยเที่ยวเกาหลีใต้หดตัวประมาณร้อยละ 6.1 จากปี 2557 โดยคาดการณ์เดิมคาดว่าจะเติบโตประมาณร้อยละ 3.0 จากปี 2557 (ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, 2558) ดังนั้นธุรกิจนำเที่ยวจึงต้องปรับแผนธุรกิจเพื่อลดความเสี่ยงของตลาดนี้ ยกตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนจุดหมายปลายทางเที่ยวประเทศอื่น
             จากเหตุการณ์ดังกล่าวผลกระทบของเศรษฐกิจโลกทำให้เศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวมากนัก ส่งผลต่อการอำนาจการซื้อของนักท่องเที่ยวลดลงทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางภายในประเทศมากขึ้น แต่ก็ยังมีนักท่องเที่ยวบางส่วนยังคงเดินทางนอกประเทศโดยหันมานิยมเดินทางประเทศใกล้เคียงแทน โดยข้อมูลของสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว คาดการณ์ว่า จะมีนักท่องเที่ยวไทยร้อยละ 13 มีแผนการท่องเที่ยวต่างประเทศ (ททท. 2558)


2)   ด้านเทคโนโลยี มีส่วนช่วยในการลดภาระและขั้นตอน เพิ่มศักยภาพ ลดระยะเวลาหรืออำนวยความสะดวกในด้านต่างๆหลายด้านซึ่งรวมถึงการทำงาน การพัฒนาศักยภาพของกระบนการการดำเนินงานขององค์กร ช่องทางการจัดจำหน่าย การทำการตลาด การประชาสัมพันธ์และอื่นๆอีกมาก
             ในปัจจุบันพบว่า ผู้คนใช้ สื่อผ่านโลกออนไลน์ และsocial media ตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการมากขึ้น พบว่า ในปี 2554 มีจำนวนผู้ใช้ Google ในการค้นหาข้อมูล มากกว่า 1 พันล้านคนต่อเดือน และFacebook กว่า 800ล้านคนทั่วโลก และประเทศไทยมีจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในปี 2553 มากกว่า 21 ล้านคน  จากข้อมูลดังกล่าว ทำให้ธุรกิจ หันมาให้ความสนใจพัฒนาช่องทางสื่อออนไลน์เพื่อตอบสนองนักท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ททท. ยังให้ความรู้หลักในการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการทำตลาดท่องเที่ยวให้สามารถแข่งขันได้  (อัสวิน จิตต์จำนงค์, 2558)
             การพัฒนาของกระแสเทคโนโลยีนั้นมีผลต่อการเข้าถึงของลูกค้าและผู้บริโภคเช่นกันซึ่งการเลือกช่องทางที่จะสื่อสารหรือการใช้เทคโนโลยีให้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายนั้นเป็นประเด็นสำคัญที่ส่งผลต่อการดำเนินงานให้เกิดประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จ สำหรับประเด็นเสริมในด้านเทคโนโลยีอื่นๆ เช่น เทคโนโลยีมีส่วนช่วยในการลดต้นทุนบางประการ ลดการใช้ทรัพยากรอื่นหรือลดค่าใช้จ่ายหรือขั้นตอนบางอย่างที่ซ้ำซ้อนหรือต้องทำหลายๆครั้งให้น้อยลงได้ เทคโนโลยียังมีบทบาทสำคัญในลักษณะทางธุรกิจ เช่น Pre-Service และ Post-service ด้วย ลูกค้าหรือผู้ใช้บริการสามารถรับข้อมูลข่าวสารหรือเลือกหาข้อมูลข่าวสารผ่านการใช้เทคโนโลยีได้ง่ายมากขึ้นและเช่นเดียวกันความถึงพอใจหลังการใช้บริการนั้นก็สามารถแพร่สะพัดผ่านช่องทางข่าวสารต่างๆ ตัวอย่างการพัฒนาของเทคโนโลยีที่มีผลต่อธุรกิจการท่องเที่ยวคือการพัฒนา Mobile application ที่เป็นช่องทางที่มีความสะดวกและใกล้กับผู้คนในยุคปัจจุบันที่สุดผู้คนสามารถใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อเชื่อมต่อตนเองกับเครือข่ายออนไลน์และทำธุรกิจผ่านหน้าจอโทรศัพท์ได้จากทุกที่ทุกเวลา โดยปัจจุบันทางธุรกิจการท่องเที่ยวแบบ SME เองก็สามารถใช้หลักการดังกล่าวในการเข้าถึงลูกค้าได้เช่นกัน เช่น การเปิดขายผ่านหน้าเว็บไซต์แทนที่ลูกค้าจะต้องเข้ามาซื้อที่สำนักงาน การกระจายข่าวผ่านแหล่งโซเชียลมีเดียต่างๆ ซึ่งถือว่าเป็นการทำการตลาดและเป็นการเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างหลากหลายเส้นทาง

3)   ด้านการเมืองและกฎหมาย  ซึ่งจัดเป็นปัจจัยสภาพแวดล้อมภายนอกที่ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศปลายทางที่ทางบริษัทจัดนำเที่ยวจะนำกลุ่มลูกค้าของตนไปและส่งผลต่อจำนวนของกลุ่มลูกค้าภายในประเทศที่ต้องการจะเดินทางออกนอกประเทศ
                 โดยจากการสุ่มสัมภาษณ์ผู้ประกอบการณ์หนึ่งได้ให้ข้อมูลว่าหลังเกิดเหตุการณ์วางระเบิดที่ศาลพระพรหม บริเวณสี่แยกราชประสงค์ และการออกกฎห้ามข้าราชการออกไปดูงานต่างประเทศ ส่งผลให้เกิดผลกระทบกับผลกำไรของบริษัทค่อนข้างมากเนื่องจากกลุ่มลูกค้าหลักของทางบริษัทเป็นข้าราชการ นอกจากนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวทำให้รัฐบาลมีกลยุทธ์แผนส่งเสริมตลาดการท่องเที่ยวไทยปี 2558 และพบประเด็นสำคัญที่เกี่ยวกับธุรกิจนำเที่ยว Outbound ดังนี้

·      สร้างความเชื่อมั่นและสร้างการรับรู้คุณค่า สร้างภาพลักษณ์ประเทศไทยทางบวกต่อเนื่องจากปี 2557  ท่องเที่ยววิถีไทยขายแหล่งท่องเที่ยว วิถีชีวิต วัฒนธรรม เน้นการสื่อสารที่สามารถเข้าถึงอารมณ์ของนักท่องเที่ยวให้ลึกมากขึ้นเกิดการบอกต่อ (Word of mouth) เพื่อส่งต่อประสบการณ์ (Share) ผ่านช่องทางการสื่อสาร
·      สร้างศูนย์กลางการเดินทางท่องเที่ยวในภูมิภาคอาเซียน (AEC) โดยเป็นจุดนำเข้าและส่งออก นักท่องเที่ยวที่สำคัญในภูมิภาคอาเซียน ส่งเสริมให้กลุ่มเพื่อนบ้านให้เดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยโดยเน้นกลยุทธ์ WIN-WIN Marketing กับคู่ค้าในภูมิภาค เน้นการแลกเปลี่ยนทรัพยากรที่แตกต่าง เน้นสร้างสมดุลทางการค้า (ททท, 2558)
 จะเห็นได้ว่า ปี 2558 ประเทศไทยเน้นกลยุทธ์ส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวเดินทางภายในประเทศเพิ่มมากขึ้นเพื่อกันการไหลของเงินตราออกนอกประเทศ ส่งผลกระทบต่อธุรกิจนำเที่ยว Outbound ที่รัฐบาลยังไม่ช่วยประชาสัมพันธ์มากนัก และโอกาสการส่งเสริมการท่องเที่ยวประเทศเพื่อนบ้านAEC ก็เป็นโอกาสทางการตลาดของธุรกิจนำเที่ยวอีกเช่นเดียวกัน
 ด้านความคืบหน้ากฎหมายธุรกิจนำเที่ยวในปี 2558 ได้มีการพัฒนาออกระเบียบให้ห้างหุ้นส่วนและบริษัทจำกัดที่จะประกอบธุรกิจ "นำเที่ยวต้องได้รับอนุญาตจากกรมการท่องเที่ยวก่อน แล้วจึงนำหลักฐานมายื่นขอจดทะเบียนเพิ่มเติมวัตถุประสงค์ต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า หากไม่มีใบอนุญาตหมดสิทธิ์ประกอบธุรกิจ เนื่องจากแหล่งท่องเที่ยวหลายพื้นที่ของไทยมักประสบปัญหาชาวต่างชาติเข้ามาประกอบกิจการท่องเที่ยวแต่แอบอ้าง หรือใช้ชื่อคนไทยจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจ (กรมพัฒนาธุรกิจการค้า, 2558) รัฐบาลยังเห็นชอบ พรบ.ร่างฉบับล่าสุด ซึ่งจะออกมาทดแทนฉบับเดิมที่ใช้ตั้งแต่ปี 2551 เพื่อเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการนำเที่ยว และเพื่อแก้ปัญหาทัวร์ศูนย์เหรียญ โดยไม่ให้ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว ไม่คิดค่าบริการที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง, กำหนดหลักเกณฑ์และลักษณะต้องห้ามเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยว เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการนำเที่ยว ทั้งด้านภาษา รวมถึงความรอบรู้ทางประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมของไทย ฯลฯ (ไทยพับลิก้า, 2558) นอกจากนี้การเปิดประชาคมอาเซียน เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานและส่งผลต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั้งนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศและเดินทางออกนอกประเทศให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในฐานะการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอาเซียน เมื่อพิจารณาในบริบทกฎหมายภายในพบว่า ภาครัฐควรให้ความสำคัญกับการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนด้วย ยกตัวอย่างเช่น กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการระงับข้อพิพาทระหว่างสายการบินกับบริษัททัวร์รวมถึงผู้ใช้บริการสายการบินทั้งในประเทศและสายการบินระหว่างประเทศให้มีความสะดวกรวดเร็วและเป็นธรรมมากขึ้น การให้สิทธิและการกำหนดหน้าที่ในการประกันภัยให้กับนักท่องเที่ยวที่เหมาะสม กฎหมายเกี่ยวกับการจ่ายค่าชดเชยในกรณีได้รับความเสียหายจากการกระทำที่ไม่เป็นธรรม เป็นต้น (กฎหมายกับการพัฒนา, 2557) ดังนั้น ธุรกิจนำเที่ยวจะต้องพัฒนาบุคลากรทั้งขีดความสามารถการนำเที่ยวและภาษาเพื่อให้มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด และเตรียมรับมือกับสถานการณ์เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลง ยกตัวอย่างเช่น นโยบายห้ามข้าราชการดูงานที่ต่างประเทศ ทำให้กลุ่มข้าราชการลดลง ก็ต้องเปลี่ยนกลยุทธ์การตลาดและหากลุ่มตลาดเป้าหมายอื่นทดแทน
การเมืองและกฎหมายยังส่งผลโดยตรงต่อภาพลักษณ์ด้านความปลอดภัย ความมั่นคงและความมั่นใจในการเดินทางของนักท่องเที่ยวและการทำธุรกิจนำเที่ยวออกนอกประเทศ หากประเทศปลายทางอยู่ในสภาวะที่ไม่แน่นอนหรืออาจะเกิดเหตุรุนแรงขึ้นได้นั้นประเทศปลายทางดังกล่าวก็อาจจะถูกประกาศเตือนจากประเทศต้นทางในการเดินทางไปประเทศปลายทางและประเทศที่กำลังประสบปัญหาก็ไม่มีจิตใจที่จะเดินทางออกนอกประเทศเช่นเดียวกับกรณีภัยธรรมชาติและอื่นๆ  นอกจากนี้ยังรวมถึงกฎหมายระหว่างประเทศในการเดินทางเข้าประเทศ การทำ VISA หรือกฎหมายทางการทูตต่างๆในการเดินทางด้วยซึ่งหากมีขั้นตอนการทำยุ่งยากและผ่านได้ยากจะส่งผลให้คนนั้นอยากไปประเทศนั้นๆลดลง

4)       ด้านของสังคมและวัฒนธรรม  เป็นประเด็นด้านความแตกต่างทางด้านการใช้ชีวิตซึ่งส่งผลในลักษณะการปรับตัวของนักท่องเที่ยวเมื่อเดินทางไปยังประเทศปลายทางซึ่งมีวัฒนธรรมแตกต่างกับตัวนักท่องเที่ยวแสดงออกมาได้ทั้งในแง่บวกและลบขึ้นกับตัวนักท่องเที่ยว ซึ่งผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวมีหน้าที่ในการสร้างความเข้าใจให้แก่นักท่องเที่ยว
ในปัจจุบันสังคมไทยให้ความสนใจกับชุมชน การอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม และสภาพสังคมเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรสู่สังคมผู้สูงอายุ ปัจจุบันมีจำนวนประชากรสูงอายุเป็นจำนวนมากคือ ประมาณร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมด และในปี 2050 จะมีผู้สูงอายุถึงประมาณ 25% ของประชากรทั้งหมด (.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์, 2557) รวมถึงการให้ความสำคัญกับคุณภาพของแหล่งท่องเที่ยวและใช้สื่อสารสนเทศในการท่องเที่ยวมากขึ้น เกิดรูปแบบของการท่องเที่ยวที่มีความสนใจการท่องเที่ยวเฉพาะทาง เช่น การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ  การท่องเที่ยวแบบผจญภัย การท่องเที่ยวเชิงกีฬา ฯลฯ  ปัจจัยดังกล่าวทำให้ธุรกิจนำเที่ยวมีทางเลือกกลุ่มตลาดเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ปัจจัยวัฒนธรรมและประเพณีไม่สามารถควบคุมได้เนื่องจากไม่ใช่เรื่องเฉพาะหน้า หากเป็นเรื่องที่สืบทอดกันมานานแล้วของทั้งนักท่องเที่ยวและผู้คนในประเทศ หากแต่มีผลต่อการจัดการและการดำเนินงานของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจ Outbound เช่นกัน

            นอกจากนี้ ปัจจัยสภาพแวดล้อมภายนอก หากพิจารณาทางประเทศไทยเราควรวิเคราะห์ประเด็นที่สำคัญต่อธุรกิจนำเที่ยวOutbound ได้อีก 2 ประเด็น ได้แก่

1)        องค์การคู่แข่ง จำนวนบริษัทนำเที่ยวที่ได้รับการจดทะเบียนจากกรมการท่องเที่ยวในปี 2558 มีจำนวนทั้งหมด 11,347 บริษัท (กรมการท่องเที่ยว, 2558) จะเห็นได้ว่าภาวการณ์แข่งขันธุรกิจนำเที่ยวมีความกดดันมากทั้งธุรกิจนำเที่ยวinbound และ outbound ซึ่งธุรกิจนำเที่ยวโดยเฉพาะSME จะต้องเผชิญความกดดันทั้งหลักประกันที่ก่อตั้งบริษัทกับกรมการท่องเที่ยวจำนวน 200,000 บาท ค่าจัดตั้งองค์กร ค่าจองทริป ค่าจ้างพนักงาน ภาวะกดดันจากคู่แข่งทั้งรายใหม่และรายเก่าที่มีโปรแกรมการท่องเที่ยวเหมือนกันและแข่งกันลดราคา อำนาจการต่อรองของผู้ชื้อที่เพิ่มมากขึ้นจากการใช้อินเตอร์เน็ต ยกตัวอย่างเช่น การเปรียบเทียบราคากับบริษัทนำเที่ยวอื่น รวมถึงแรงกดดันจากสินค้าทดแทน ยกตัวอย่างเช่น การพักผ่อนดูรายการท่องเที่ยวที่บ้านหรือดูทางอินเตอร์เน็ต การช้อปปิ้งทดแทนการท่องเที่ยว (สุชนนี เมธิโยธิน, 2557 : 2-3) ดังนั้นบริษัทนำเที่ยวจะต้องสร้างกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อดึงดูดลูกค้า ไม่ว่าจะเป็น การสร้างโปรแกรมรายการนำเที่ยวให้มีความแตกต่าง หรือการมองหากลุ่มตลาดเฉพาะ
2)        สมาคมที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจนำเที่ยว Outbound ถึงแม้ว่าภายในประเทศไทยยังไม่มีสมาคมที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ Outbound เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และรักษาผลประโยชน์ธุรกิจร่วมกัน อันเนื่องมาจาก นโยบายของรัฐบาลในปัจจุบันที่เน้นการท่องเที่ยวภายในประเทศส่งเสริมธุรกิจ Inbound มากกว่า แต่ผู้ประกอบการนำเที่ยวบางส่วนมีการเป็นพันธมิตรร่วมกันในการแลกเปลี่ยนลูกค้า
          
         โดยจากที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น เมื่อเปรียบเทียบธุรกิจนำเที่ยว Outbound เทียบกับกระแสธุรกิจโลก พบว่า ธุรกิจนำเที่ยวOutbound ขนาดย่อมไม่ได้รับผลกระทบจากสภาพแวดล้อมมากนัก เนื่องจากเป็นบริษัทขนาดเล็ก  ทางด้านปัจจัยเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับบริษัทจะทำธุรกิจนำเที่ยวประเทศใดบ้าง หากประเทศโซนยุโปที่มีเศรษฐกิจยังไม่ดีมากนัก ค่าเงินอ่อนลงทำให้นักท่องเที่ยวมีความสนใจเที่ยวมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศรัสเซียที่มีปัญหากับยูเครนทำให้ค่าเงินอ่อนลง ส่งผลให้บริษัททัวร์ได้รับกำไรที่ดี แต่ปัจจัยภายในที่นักท่องเที่ยวมีกำลังซื้อน้อยจากเศรษฐกิจไทยที่ยังไม่ฟื้นตัวก็ทำให้นักท่องเที่ยวเที่ยวภายในประเทศหรือท่องเที่ยวบริเวณใกล้เคียงมากกว่าประเทศที่มีค่าเงินแพงกว่าประเทศตนเองมาก ปัจจัยที่ส่งผลกระทบมากที่สุดคือเทคโนโลยี ที่บริษัทนำเที่ยวต้องตามให้ทันพฤติกรรมของผู้บริโภคพบว่าปัจจุบันบริษัทจัดนำเที่ยวแบบ SME ได้มีการปรับเปลี่ยนแผนการดำเนินงานของตัวเองให้เข้ากับยุคปัจจุบันทั้งการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเข้าช่วยมีการทำแพ็คเกจทัวร์ตามงบที่ลูกค้าร้องขอเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงในการหาลูกค้า การทำแพ็คเกจทัวร์ให้มีความแตกต่างจากคู่แข่ง หรือการยึดมั่นในด้านคุณภาพของสินค้าของตน เพื่อให้ลูกค้ามีความพึงพอใจในการใช้บริการสูงสุด เป็นต้น นอกจากนี้ธุรกิจนำเที่ยว Outbound ขนาดย่อมยังคงเผชิญหน้ากับความกดดันภายในประเทศมากกว่า เห็นได้จากภาวะการแข่งขันของบริษัทที่นับวันมีจำนวนสูงขึ้น หากบริษัทไม่พัฒนาผลิตภัณฑ์และการบริการจะทำให้ศักยภาพการแข่งขันหรืออยู่รอดภายในธุรกิจนี้เป็นไปได้ยาก ประกอบกับนโยบายของรัฐบาลที่สนับสนุนการท่องเทียวภายในประเทศและไม่มีสมาคมสำหรับธุรกิจนำเที่ยว Outbound เพื่อเอื้อผลประโยชน์ร่วมกันเลย

 ______________________________________________


บรรณานุกรม
กฎหมายกับการพัฒนา. (2557). กฎหมายการท่องเที่ยวของไทยกับการเตรียมความพร้อมสู่    
            AEC. สืบค้นจาก http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/564358.
กรมการท่องเที่ยว. (2558). รายชื่อธุรกิจนำเที่ยว. สืบค้นจาก  http://tourism.go.th/home/ 
          details/11/0/24427.
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์. (2558). จัดตั้งธุรกิจนำเที่ยว ต้องได้ไปเขียวจากกรม

การท่องเที่ยวก่อน บังคับใช้แล้ว 1 .. 58. 2558. (81). สืบค้นจาก http://www.dbd.            go.th/ewt_news.php?nid=12603&filename=index.
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. (2558). สรุปแผนส่งเสริมตลาดการท่องเที่ยวประจำปี

งบประมาณ 2558. สืบค้นจาก  http://marketingdatabase.tat.or.th/ download/ file_upload/Untitled%20attachment%2000032.pdf.
 โครงการการรายงานและพยากรณ์สถานการณ์พฤติกรรมนักท่องเที่ยวและความเชื่อมั่นของ
ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย. (2558). ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบธุรกิจการท่องเที่ยวในประเทศไทยไตรมาสที่ 2 ปี 2558. 2-5. สืบค้นจาก http://www.m-society.go.th/article_attach/14377/18074.pdf.
ฉัตรพร เสมอใจ. (2552). การจัดการธุกิจขนาดย่อม. กรุงเทพ: ซีเอ็ดยูเคชั่น.
เดลินิวส์. (2558). เหตุระเบิดแนกราชประสงค์ ดับฝันท่องเที่ยวไทยหรือไม่. สืบค้นจาก
http://www.dailynews.co.th/economic/342589.
ทยพับลิกา. (2558). ประยุทธ์ รับทำโผปรับ ครม.จบแล้ว รอทูลเกล้าฯ ยังห่วงภัยแล้ง ชี้ฝนตก

แต่น้ำเข้าเขื่อนน้อย - ไฟเขียว กม. นำเที่ยวใหม่สกัดทัวร์ศูนย์เหรียญ. สืบค้นจาก           http://thaipublica.org/2015/08/ncpo-cabinet-2558_35/.
ทยพาณิชย์. (2555). โอกาสและผลกระทบของ AEC ต่อธุรกิจ SME ไทย. สืบค้นจาก             
          http://www.scbsme.com/th/business-knowledge/business/193/chance-and- impact.
พารณี. (2558). สสว.เผย SMEs ปี 2558 11 รุ่ง4 ร่วง. สืบค้นจาก  http://www.sentangsed           tee.com/news_detail.php?rich_id=1447&section=17&column_id=49.
.ดร. เกรียงศักด์ เตริญวงศ์ศักดิ์. (2557). แนวโน้มโลก 2050 ตอนที่ 3 : สังคมโลกสังคมฃ

ผู้สูงอายุ. สืบค้นจาก http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/611956.
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย. (2558). การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสเมอร์สกระทบตลาดการท่องเที่ยว

ไทย -เกาหลีใต้. สืบค้นจาก http://www.banmuang.co.th/news/economy/20142.
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย. (2558). ลดค่าเงินหยวนกระทบไทยจำกัด. สืบค้นจาก
http://www.dailynews.co.th/economic/341469.
สำนักยุทธศาสตร์ปละการวางแผนเศรษฐกิจมหภาค. (2558). ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรก

ปี 2558 และแนวโน้มปี 2558. 1. สืบค้นจาก http://www.nesdb.go.th/Portals/0/
          eco_datas/economic/eco_state/1_58/PressThaiQ1-2015.pdf.
สุชนนี เมธิโยธิน. (2555). การเคลื่อนไหวทางการแข่งขันของธุรกิจนำเที่ยวแบบ 
Outbound [ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์]. วารสารวิทยาลัยพาณิชยศาสตร์บูรพาปริทัศน์, 55(7), 
          2-7.
อิงค์ควิตี้. (2556). ข้อดีและข้อเสียของการจัดตั้งธุรกิจเป็นบริษัทจำกัด. สืบค้นจาก            
          http://incquity.com/articles/startup/pros-cons-limited-company


















































ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น